ในอดีต สิ่งอุปโภคบริโภคที่กระตุ้นจิตใจให้เกิดความต้องการมีน้อย มนุษย์จึงไม่ประสบปัญหาเรื่องการจับจ่ายใช้สอยกันมากนัก แต่ปัจจุบัน สิ่งอุปโภคบริโภคที่กระตุ้นความต้องการมีมากขึ้น ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าพิจารณาจริง ๆ สิ่งอุปโภคบริโภคดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งเร้าเท่านั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการใช้จ่ายอย่างเกินความจำเป็นมี ๓ ประการ คือ
๑. สาเหตุจากความต้องการของคน ขึ้นชื่อว่าคนนั้นมักมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น เมื่อตอนมีรายได้น้อยจะซื้อหาอาหารที่ไหนรับประทานก็ได้ขอให้ท้องอิ่มก็พอ เรียกว่าอยู่ง่ายกินง่าย ต่อมามีรายได้เพิ่มขึ้นก็ไม่อยากรับประทานอาหารแบบเดิมอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนเป็นอาหารตามร้านหรูหรามีราคาแพงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ร้านเดิม ก็อิ่มพอกัน มีคุณค่าทางอาหารพอกันถ้ารู้เท่าทันสาเหตุของปัญหาแล้วรู้จักทำตัวเองเสียใหม่ โดยใช้ปัญญาและเหตุผลเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถที่จะเลือกกินเลือกใช้ตามเหตุผลและความถูกต้องด้วยตนเอง ไม่กินใช้ไปตามแรงดึงดูดของสิ่งล่อ เมื่อนั้นแหละ ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
๒. สาเหตุจากการเข้าใจโลกหรือมองโลกที่ไม่เหมาะสม คือเข้าใจว่า แบบแผนการดำรงชีวิตที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ที่มีลักษณะกระตุ้นเร้าให้เกิดการบริโภคและใช้จ่ายมากขึ้นนั้น เป็นแบบแผนที่ถูกต้อง ควรถือเป็นวิธีดำเนินชีวิตของคนปกติทั่วไป จึงพยายามที่จะดำเนินชีวิตตามแบบแผนนั้น ในที่สุดก็ต้องใช้เงินเกินกว่ารายได้ที่มี
๓. สาเหตุจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม การที่คนเรามีการสื่อสารกับคนในสังคมและต้องการเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มคนในสังคม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ชีวิตและการบริโภคอย่างสิ้นเปลืองได้ เช่น เห็นว่าถ้าใครใช้สินค้าตราอักษรอย่างนั้น หรือไปในสถานที่แห่งนั้นแล้วเป็นคนมีระดับ มีหน้ามีตา ก็ต้องพยายามทำอย่างนั้นบ้าง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่แม้จะรู้ว่าต้องใช้จ่ายสูงและสิ้นเปลือง แต่ก็ยับยั้ง ชั่งใจไม่ได้
**ธรรมะก่อนนอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น