แนะนำ! บทความธรรมะอ่านมากที่สุดตอนนี้

นิทานคุณธรรม ตอน วจีประหาร

นิทานคุณธรรม เรื่อง วจีประหาร

นิทานคุณธรรม ตอน วจีประหาร #$#  ในครั้งพุทธกาล ชายคนหนึ่งไม่พอใจพระพุทธเจ้าที่ทรงให้ญาติของตนบวชเป็นภิกษุ จึงเข้าไปเฝ้าแล้วด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย พระพุทธเจ้าทรงรอจนชายคนนั้นด่าจบ จึงตรัสถามว่า “ท่านเคยจัดของต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมที่บ้านบ้างหรือไม่” เมื่อเขาตอบว่า “เคย” จึงตรัสถามอีกว่า “ถ้าแขกไม่บริโภค ของเหล่านั้นจะตกเป็นของใคร” เขาตอบว่า “เป็นของข้าพเจ้าตามเดิม” พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าตอบ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธตอบ เราไม่รับคำด่าของท่าน ฉะนั้น คำด่าเป็นต้น ย่อมตกเป็นของท่านตามเดิม”
       เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า การทำลายกันด้วยวาจาจะก่อทุกข์ได้ ก็ต่อเมื่อผู้ถูกด่ารับไว้เท่านั้น ถ้าไม่รับไว้ คำด่านั้นก็ไม่มีพิษสงอะไรกับจิตใจ ความโกรธ ความรุ่มร้อนต่าง ๆ จะถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่เฉพาะในตัวของผู้สร้างมันขึ้นมาเท่านั้น เข้าทำนองของของตน เมื่อไม่มีผู้รับ ก็ต้องเป็นของตนวันยังค่ำ แม้คำเท็จ คำส่อเสียด เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน ในชีวิตจริง การจะมีสติและปฏิบัติได้อย่างนั้นอาจดูเหมือนเหลือวิสัย แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า โดยปกติหากมีใครยื่นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาให้ ก็ต้องพิจารณาก่อนว่า เป็นอะไร ใช้ประโยชน์ด้านไหน ดีหรือชั่ว ควรรับไว้หรือไม่ แล้วเหตุใด เมื่อมีผู้หยิบยื่นวาจาเป็นเครื่องประหารตัวเองมาให้ จึงจะรีบรับเอาด้วยความเต็มใจเล่า ทั้งที่พระพุทธองค์ก็ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างมาแล้ว
     เมื่อพูดถึงการประหัตประหารกันแล้ว คนส่วนมากมักนึกถึงการประหัตประหารกันด้วยกำลังทางกายและด้วยอาวุธต่าง ๆ แต่การใช้วาจาเป็นอาวุธสำหรับประหาร เรียกว่า วจีประหาร ก็สามารถประหัตประหารสร้างความหายนะแก่กันได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าอาวุธอย่างอื่น โดยเฉพาะในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารเช่นปัจจุบันนี้

ธรรมะกับชีวิต ตอน หลุมฝังศพของคนเป็น

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง หลุมฝังศพของคนเป็น

ธรรมะกับชีวิต ตอน หลุมฝังศพของคนเป็น %%% นักปราชญ์กล่าวเป็นคติเตือนใจไว้ว่า "ความเกียจคร้านคือ หลุมฝังศพของคนเป็น" ความเกียจคร้าน หรือความขี้เกียจ หมายถึง ความไม่อยากทำหน้าที่การงาน ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับ ความขยันหมั่นเพียร ถามว่า ทำไมความเกียจคร้าน จึงเป็นดุจหลุมฝังศพของคนเป็น ตอบว่า เพราะบุคคลผู้เกียจคร้าน ถึงจะมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว กล่าวคือ จะมีแต่ความล้มเหลว เอาดีในชีวิต และหน้าที่การงานไม่ได้เลย บุคคลผู้เกียจคร้านจึงหมดค่า เป็นที่น่ารังเกียจ เป็นเสนียดของสังคม ดังคำคมที่ว่า "ไม้เช็ดก้นดีกว่าคนขี้เกียจ คนขี้เกียจเป็นเสนียดสังคม, ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมลงผึ้ง" ดังนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงจัดว่า ความเกียจคร้านเป็นอบายมุข คือ ทางแห่งความเสื่อมประการหนึ่ง
     ลักษณะของคนเกียจคร้าน ตามทรรศนะทางพระพทุธศาสนามี ๔ ประการคือ.-
     ๑. เกียจคร้าน (กุสีตะ) คือ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ เช่น ได้รับมอบหมายหน้าที่ การงานใดแล้ว ก็ปล่อยปละละเลย ไม่ทำหน้าที่การงานนั้น จนเกิดผลเสียหายแก่หน้าที่ การงาน
     ๒. ประพฤติทุจริต (ทุจจริตะ) คือ ประพฤติเสีย สร้างเหตุไม่ดี แต่อยากได้รับผลดีเหมือนคนอื่น
     ๓. ทำงานย่อหย่อน (สิถิละ) คือ ทำอะไรก็ทำล่นๆ ไม่ทำจริงๆ แต่อยากได้รับผลสำเร็จ
     ๔. ทำงานคั่งค้างอากูล (อากุละ) คือ ชอบผัดวันประกันพรุ่ง อ้างโน่น อ้างนี่ แล้วไม่ทำงาน

     วิธีแก้ความเกียจคร้าน คือ.-
     ๑. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง - เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่การงานแล้ว ควรรีบทำในทันที อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เช่นว่า เอาไว้พรุ่งนี้ก่อนค่อยทำ เป็นต้น
     ๒. รู้หน้าที่  - เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่การงานแล้ว ควรศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ และพยายามทำให้เรียบร้อยดีที่สุด และให้ทันเวลา
     ๓. สำนึกในหน้าที่ - เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ การงานแล้ว ควรมีความขยันหมั่นเพียรเอาใจใส่ มีความสำนึกว่า "เรามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้สำหรับเลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว ก็เพราะหน้าที่การงานนี้ จึงเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของเรา"

    ดังนั้น ผู้หวังความสุข ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต และหน้าที่การงาน จึงควรละนิสัยขี้เกียจ แล้วปลูกฝัง ความขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบในหน้าที่เสียตั้งแต่วันนี้ ... ธรรมะกับชีวิต

ธรรมะกับชีวิต ตอน โลกร้อน

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง โลกร้อน

ธรรมะกับชีวิต ตอน โลกร้อน ... เมื่อพูดถึงโลก คนส่วนมากก็มักนึกถึงโลกที่มีสัณฐานกลม ๆ หมุนรอบตัวเอง ๑ รอบใช้เวลา ๑ วัน หมุนรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบใช้เวลา ๑ ปี ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ที่กำลังประสบปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้น น้อยคนนักที่จะนึกถึงโลกอื่นซึ่งความจริงก็มีปัญหาไม่แพ้กัน
     คำว่าโลก แปลว่าสิ่งที่จะต้องเสื่อมสลายไป ในทางธรรมแบ่งไว้ ๓ ประเภท คือ สังขารโลกหนึ่ง โลกคือสังขาร ได้แก่สิ่งที่เกิดจากการปรุงแต่ง เช่นร่างกายและจิตใจ สัตว์โลกหนึ่ง โลกคือหมู่สัตว์ ได้แก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย และโอกาสโลก โลกคือแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ ที่ว่าโลกร้อนนั้นมิใช่เฉพาะโลกคือแผ่นดินที่อาศัยอยู่นี้เท่านั้น แต่โลกคือสังขารและโลกคือหมู่สัตว์ แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาทางด้านอุณหภูมิอย่างที่เกิดในปัจจุบัน แต่เมื่อตกอยู่ในภาวะที่จะต้องเสื่อมสลายไม่เที่ยงแท้ ก็กลายเป็นเรื่องที่กระทบต่อชีวิต ถ้าบริหารจัดการไม่ดี จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าร้อนยิ่งไปกว่าเรื่องโลกร้อนที่กำลังวิตกกันอยู่นี้เสียอีก รวมความว่าโลกทั้ง ๓ นี้ ทางศาสนาถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องบริหารจัดการด้วยกันทั้งสิ้น มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นโลกร้อนขึ้นได้
    วิธีบริหารจัดการโลกนั้น หากเป็นสังขารโลก ท่านสอนให้รู้เท่าทันความเป็นไปของมัน พยายามถอนความยึดมั่นถือมั่นเสียบ้าง จึงจะคลายทุกข์คลายร้อนได้ หากเป็นสัตว์โลก ท่านสอนให้มีเมตตาธรรมมีความรักใคร่ปรารถนาดีเป็นเครื่องป้องกันความเร่าร้อนวุ่นวายในการอยู่ร่วมกัน ในส่วนของโอกาสโลก ที่กำลังมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกทีนั้น เมื่อสาเหตุหลักมาจากการกระทำของคน การบริหารจัดการ จึงขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะต้องให้ความร่วมมือในมาตรการต่าง ๆ เช่น การใช้พลังงานอย่างประหยัด และหยุดการสร้างมลพิษ เป็นต้น หากทำได้ก็จะเป็นการชะลอความเสื่อมสลายและความร้อนของโลกได้อย่างแน่นอน

ธรรมะกับความรัก ตอน โลกร่มเย็นด้วยกตัญญูกตเวที

ธรรมะกับความรัก เรื่อง โลกร่มเย็นด้วยกตัญญูกตเวที
ธรรมะกับความรัก ตอน โลกร่มเย็นด้วยกตัญญูกตเวที &*& มีคำที่นักปราชญ์กล่าวไว้ว่า “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” คำกล่าวนี้นอกจากมุ่งเชิดชูคนที่มีความกตัญญู คือ รู้จักบุญคุณของผู้อื่น และกตเวที คือตอบแทนบุญคุณของผู้ที่ทำอุปการะแก่ตนโดยตรงแล้ว ยังให้แง่คิดที่เป็นเครื่องเตือนใจอีก ๒ ประการ ได้แก่

"ธรรมะก่อนนอน" เรื่อง โลกยามเช้า

"ธรรมะก่อนนอน" ตอน โลกยามเช้า

"ธรรมะก่อนนอน" เรื่อง โลกยามเช้า ธรรมะก่อนนอน ประจำวันพุธที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙ นำเสนอเรื่อง โลกยามเช้า ...  โลกในเวลารุ่งอรุณ ไม่ว่าจะมองไปทางทิศใดก็สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน ไม่ต้องคาดคะเน หรือมองเห็นผิดพลาดเหมือนเวลากลางคืน อีกทั้งอากาศก็เย็นสบายให้ความสดชื่นแก่ทุกชีวิต ครั้นพอตะวันลับขอบฟ้าไปแล้ว ความงดงามบนผืนโลกที่เรามองเห็นและชื่นชมอยู่ในยามเช้าก็ถูกปกคลุมด้วยความมืดแห่งราตรีกาล แม้จะมีแสงจันทร์หรือดวงดาวช่วยส่องให้สว่างอยู่บ้าง แต่ก็ทำให้เห็นได้เพียงเลือนลาง ไม่ชัดเจนเท่าแสงอาทิตย์
        ภายในจิตใจของคนเราก็เช่นเดียวกัน เวลาใดมีความปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว ก็เหมือนโลกในยามเช้าที่มีแสงสว่าง มีบรรยากาศที่สดชื่น คนที่มีอารมณ์เหมือนโลกยามเช้าเช่นนี้ แม้เขาจะอยู่ในกระท่อมซอมซ่อหรืออยู่ในสภาพที่สวมใส่เสื้อผ้าที่เก่าขาดวิ่น ก็มีความเบิกบานใจ ใจที่เบิกบานแจ่มใสนี้มีสภาพเป็นกุศล เป็นทางแห่งปัญญาและเอื้อต่อการรู้จักผิดชอบชั่วดี มีความรังเกียจละอายต่อการทำความชั่วทุกชนิด แต่ถ้าคราใดจิตใจถูกปกคลุมมืดมิดไปด้วยอำนาจของกิเลส มีโลภะ เป็นต้น ก็จะเป็นจิตใจที่ขาดพลัง ทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เลือนลางหรือเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นสิ่งสกปรกเป็นสะอาด เห็นบาปเป็นบุญ เห็นคุณเป็นโทษ เห็นผิดเป็นถูกไปได้
         ดังนั้น จึงควรสำรวจตัวเองอยู่ทุกขณะแล้วพยายามปรับจิตใจให้เป็นเหมือนโลกยามเช้าเพื่อชีวิตจะได้พบแต่สิ่งที่ดีงามในทุก ๆ วัน

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง เลือกกินเลือกใช้

ธรรมะก่อนนอน ตอน เลือกกินเลือกใช้

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง เลือกกินเลือกใช้
      ในอดีต สิ่งอุปโภคบริโภคที่กระตุ้นจิตใจให้เกิดความต้องการมีน้อย มนุษย์จึงไม่ประสบปัญหาเรื่องการจับจ่ายใช้สอยกันมากนัก แต่ปัจจุบัน สิ่งอุปโภคบริโภคที่กระตุ้นความต้องการมีมากขึ้น ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าพิจารณาจริง ๆ สิ่งอุปโภคบริโภคดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งเร้าเท่านั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการใช้จ่ายอย่างเกินความจำเป็นมี ๓ ประการ คือ
       ๑. สาเหตุจากความต้องการของคน ขึ้นชื่อว่าคนนั้นมักมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น เมื่อตอนมีรายได้น้อยจะซื้อหาอาหารที่ไหนรับประทานก็ได้ขอให้ท้องอิ่มก็พอ เรียกว่าอยู่ง่ายกินง่าย ต่อมามีรายได้เพิ่มขึ้นก็ไม่อยากรับประทานอาหารแบบเดิมอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนเป็นอาหารตามร้านหรูหรามีราคาแพงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ร้านเดิม ก็อิ่มพอกัน มีคุณค่าทางอาหารพอกัน
       ๒. สาเหตุจากการเข้าใจโลกหรือมองโลกที่ไม่เหมาะสม คือเข้าใจว่า แบบแผนการดำรงชีวิตที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ที่มีลักษณะกระตุ้นเร้าให้เกิดการบริโภคและใช้จ่ายมากขึ้นนั้น เป็นแบบแผนที่ถูกต้อง ควรถือเป็นวิธีดำเนินชีวิตของคนปกติทั่วไป จึงพยายามที่จะดำเนินชีวิตตามแบบแผนนั้น ในที่สุดก็ต้องใช้เงินเกินกว่ารายได้ที่มี
       ๓. สาเหตุจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม การที่คนเรามีการสื่อสารกับคนในสังคมและต้องการเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มคนในสังคม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ชีวิตและการบริโภคอย่างสิ้นเปลืองได้ เช่น เห็นว่าถ้าใครใช้สินค้าตราอักษรอย่างนั้น หรือไปในสถานที่แห่งนั้นแล้วเป็นคนมีระดับ มีหน้ามีตา ก็ต้องพยายามทำอย่างนั้นบ้าง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่แม้จะรู้ว่าต้องใช้จ่ายสูงและสิ้นเปลือง แต่ก็ยับยั้ง ชั่งใจไม่ได้
       ถ้ารู้เท่าทันสาเหตุของปัญหาแล้วรู้จักทำตัวเองเสียใหม่ โดยใช้ปัญญาและเหตุผลเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถที่จะเลือกกินเลือกใช้ตามเหตุผลและความถูกต้องด้วยตนเอง ไม่กินใช้ไปตามแรงดึงดูดของสิ่งล่อ เมื่อนั้นแหละ ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
**ธรรมะก่อนนอน

ธรรมะกับความรัก ตอน ลูกกตัญญู

ธรรมะกับความรัก เรื่อง ลูกกตัญญู

ธรรมะกับความรัก ตอน ลูกกตัญญู !!! ผู้ที่เป็นลูกทุกคน ย่อมมีหน้าที่ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ การตอบแทนพระคุณนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากในความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะสามารถพบเห็นเข้าใจกันได้โดยสามัญ แต่ถ้าถามว่าพระพุทธศาสนาได้วางหลักการตอบแทนพระคุณท่านไว้อย่างไรบ้าง หลายท่านอาจจะนึกไม่ออก จึงขอนำวิธีตอบแทนพระคุณพ่อแม่ที่ปรากฏในสิงคาลกสูตร ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือของลูกกตัญญูมาแสดงไว้ดังนี้
       ๑. ท่านเลี้ยงมาแล้วเลี้ยงท่านตอบ คือ เลี้ยงดูท่านเหมือนที่ท่านเลี้ยงดูเรามา โดยเฉพาะในยามที่ท่านไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ อย่าให้เข้าทำนองว่าลูกกี่คนพ่อแม่เลี้ยงได้หมด แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ไม่ย่อท้อ แต่พ่อหรือแม่เพียงคนเดียว ลูกกลับเลี้ยงท่านไม่ได้ ปล่อยให้ท่านอดอยากไร้ที่พึ่ง น่าเศร้าใจยิ่งนัก
       ๒. ช่วยทำกิจของท่าน คือ เมื่อกิจอย่างใดอย่างหนึ่งของท่านเกิดขึ้น ก็ขวนขวายช่วยเหลือไม่ดูดาย ถือเสมือนเป็นกิจของตนหรือสำคัญยิ่งกว่ากิจของตน ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องจุกจิก เสียเวลา น่ารำคาญ
       ๓. ดำรงวงศ์ตระกูล คือ งดเว้นจากการกระทำซึ่งจะเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติของวงศ์ตระกูล ปฏิบัติในสิ่งที่จะเชิดหน้าชูตาให้ท่านเกิดความภาคภูมิใจ เป็นสุข และปลื้มปีติ
       ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะรับทรัพย์มรดก คือ ปฏิบัติตัวให้ท่านไว้วางใจ เบาใจว่าจะสามารถรักษาทรัพย์สมบัติที่ท่านหามาด้วยความเหนื่อยยากได้ ไม่ประพฤติล้างผลาญ
       ๕. เมื่อท่านล่วงลับทำบุญอุทิศให้ คือ เมื่อท่านสิ้นไปแล้ว ก็ตอบแทนพระคุณท่านด้วยผลแห่งบุญกุศล หากท่านประสบทุกข์จะได้พ้นจากทุกข์ หากประสบสุขก็จะได้มีความสุขยิ่งขึ้นไป
       มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว จะไม่ยอมเป็นลูกของใครเลยนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ และความเป็นลูกที่ติดตัวเราทุกคนอยู่นี้ก็เป็นของศักดิ์สิทธิ์ คือถ้าปฏิบัติถูกจะเกิดสิริมงคลอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะพลังความรักที่บริสุทธิ์ของพ่อแม่ยิ่งใหญ่และมีอานุภาพเพียงใด พลังแห่งความกตัญญูก็ทรงอานุภาพปานกัน ความเป็นลูกกตัญญูจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวที่ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่อื่นเลย


ธรรมะกับชีวิต ตอน ลีลาชีวิต

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง ลีลาชีวิต

ธรรมะกับชีวิต ตอน ลีลาชีวิต ... คำว่าลีลา หมายถึงท่าทางหรือท่วงทำนองของการกระทำ ชีวิตของทุกคนที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ก็ล้วนมีลีลาแตกต่างกันไปตามฐานะ เพศ และอาชีพ จึงยังไม่มีใครกล้าชี้ชัดลงไปว่าลีลาชีวิตของใครจะดีกว่ากัน เพราะทุกลีลาชีวิตก็ย่อมมีข้อดี ข้อด้อย หาสมบูรณ์แบบได้ยาก แต่เมื่อว่าโดยรวมแล้ว ท่านกำหนดลีลาชีวิตที่เป็นหลักใหญ่ ซึ่งเป็นลีลาที่สอดคล้องกับห้วงเวลาของชีวิตของคนเราไว้เป็น ๓ ระยะ คือ
       ๑. ลีลาชีวิตในประถมวัย เป็นระยะที่ต้องเน้นบทบาทหน้าที่ไปในเรื่องการศึกษาเล่าเรียน จึงต้องขวนขวายหาความรู้ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการทิ้งความรู้ก็คือการทิ้งสมบัติภายในที่สามารถนำไปใช้สอยได้ตลอดชีวิต
       ๒. ลีลาชีวิตในมัชฌิมวัย ต้องให้ความสำคัญกับการประกอบหน้าที่การงานโดยอาศัยทั้งความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา และไหวพริบปฏิภาณ รวมทั้งกำลังกาย และกำลังใจที่กำลังอยู่ในระยะเข้มแข็งสมบูรณ์เต็มที่ เป็นเครื่องมือ
       ๓. ลีลาชีวิตในปัจฉิมวัย ต้องเก็บเกี่ยวบุญกุศลและความสงบร่มเย็นให้แก่ตนเอง เผื่อแผ่ความดีงามให้แก่ผู้อื่น และวางตัวให้สมเป็นปูชนียบุคคลของคนรุ่นหลัง
       อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า ถ้ายังเด็กอยู่จะทำบุญกุศลไม่ได้ ถ้ายังอยู่ในวัยทำงานจะศึกษาเล่าเรียนไม่ได้ เพียงแต่ต้องไม่ทิ้งหลักใหญ่ที่ควรยึดไว้เป็นเป้าหมายชีวิตในแต่ละช่วงจังหวะ มิฉะนั้น ท่วงทำนองหรือการกระทำนั้นก็จะเป็นลีลาที่ผิด รวมถึงผิดเวลา อันเป็นการทำให้ชีวิตพลาดจากประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง ลิ้น

ธรรมะกับชีวิต ตอน ลิ้น

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง ลิ้น ...  อีสปเป็นนักเล่านิทานเป็นคติสอนใจที่มีชื่อเสียง ตามประวัติกล่าวว่า เขาทำงานเป็นทาส วันหนึ่ง นายใช้ให้ไปหาซื้อของที่ดีที่สุดมาปรุงอาหาร อีสปซื้อลิ้นโคมาให้นายทุกวัน จนนายประหลาดใจจึงถามว่าลิ้นโคดีวิเศษอย่างไร ถึงได้ซื้อมาทุกวัน อีสปอธิบายว่า ลิ้นเป็นของประเสริฐสุด รักกันก็เพราะลิ้น ช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็เพราะลิ้น ลิ้นเป็นสิ่งที่มีอานุภาพสำหรับเชื่อมความสัมพันธ์ และทำให้โลกนี้เป็นที่น่ารื่นรมย์ ด้วยเหตุนี้ ลิ้นจึงเป็นของดีที่สุด เมื่อนายได้ฟังคำอธิบายของอีสปจึงสั่งใหม่ว่า ตั้งแต่นี้ไปให้ซื้อของที่เลวที่สุดมาปรุงอาหาร อีสปก็ซื้อลิ้นโคมาอีก ครั้นนายถามก็อธิบายว่า อะไรในโลกนี้จะเลวไปกว่าลิ้นเป็นไม่มี ทำให้คนเกลียดชังกันก็เพราะลิ้น ทะเลาะวิวาทกันก็เพราะลิ้น ติดคุกติดตะรางหรือบางครั้งถึงตายก็เพราะลิ้น ด้วยเหตุนี้เอง ลิ้นจึงเป็นของเลวที่สุด
      การพูดจาปราศรัยเป็นเรื่องต้องระมัดระวัง และควรฝึกฝนอบรมให้ดีงามอยู่เสมอ ด้วยหลักปิยวาจา ๕ ประการ คือ ๑. เนฬา พูดไม่มีโทษภัย ๒. กัณณะสุขา เจรจาให้เสนาะหู ๓. หะทะยังคะมา ทุกผู้ดื่มด่ำจับใจ ๔. พะหุชะนะมะนาปา คนส่วนใหญ่ชอบ ๕. โปรี อยู่ในกรอบของภาษาชนเมือง และเว้นอัปปิยวาจา อย่างเด็ดขาด นั่นคือ คำด่า คำประชด คำกระทบกระแทก คำแดกดัน และคำหยาบคาย
       เมื่อเรามีของที่มีทั้งด้านดีที่สุดและเลวที่สุดอยู่ในตัวอย่างนี้แล้ว ก็จงมีสติเลือกใช้แต่เฉพาะด้านที่ดีที่สุดเถิด เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ตนเองและหมู่คณะอยู่กันอย่างเป็นสุข มีความเข้าอกเข้าใจและเป็นไปเพื่อความสามัคคีอันเป็นที่ปรารถนาของทุกคน

นิทานคุณธรรม ตอน ลิงแย่งผลไม้

นิทานคุณธรรม เรื่อง ลิงแย่งผลไม้

มีลิงตัวเล็ก ๆ สองตัวไปพบผลไม้ใหญ่หนึ่งผล ลิงทั้งสองจึงกระโดดเข้าตะครุบพร้อม ๆ กัน แล้วก็ยื้อแย่งผลไม้นั้นไปมา ต่างฝ่ายก็พูดว่า "ผลไม้นี้ของฉัน ฉันเห็นก่อน" ถกเถียงกันอยู่พักใหญ่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ถึงแม้ลิงตัวหนึ่งจะเกิดความคิดว่า "เราควรแบ่งผลไม้กันคนละครึ่งดีกว่า" แต่ก็เกิดปัญหาอีกว่าจะมอบให้ใครเป็นคนแบ่ง เพราะถ้าให้ลิงตัวหนึ่งเป็นคนแบ่ง ลิงอีกตัวก็กลัวว่าตัวจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้ส่วนแบ่งที่น้อยกว่า แล้วลิงทั้งสองก็เถียงกันอีกว่า "ฉันแบ่งเอง ฉันแบ่งเอง" ในที่สุดก็ตกลงใจไปหาลิงตัวใหญ่ให้เป็นคนแบ่งผลไม้ให้
           ฝ่ายลิงตัวใหญ่กล่าวว่า "เราจะแบ่งให้เจ้าได้เท่า ๆ กันอย่างยุติธรรม" ว่าแล้วก็แบ่งผลไม้ออกเป็นสองชิ้น ชิ้นใหญ่ไว้ในมือขวา ชิ้นเล็กไว้มือซ้าย แล้วก็มองดูผลไม้ทั้งสองชิ้น เมื่อเห็นชิ้น ในมือขวา ใหญ่กว่า ก็กัดกินชิ้นนั้นเพื่อให้เท่ากับชิ้นในมือซ้าย พอกินเสร็จก็มองดูผลไม้ทั้งสองชิ้นอีกครั้ง และเห็นว่าชิ้นในมือซ้ายกลับใหญ่กว่า ก็กัดกินชิ้นนั้นทำเช่นนี้จนผลไม้หมดเกลี้ยงทั้งสองชิ้น ปล่อยให้ลิงตัวเล็กทั้งสองตัวนั่งมองหน้ากัน แล้วก็ทำตาปริบ ๆ ด้วยความเสียดาย
           ถ้าลิงทั้งสองอาศัยความสามัคคีปรองดองกัน สามารถรอมชอมกันได้ ไม่ห่วงแต่ว่าจะได้มากหรือน้อย มีความไว้วางใจกัน ให้เกียรติกัน ยอมให้ใครก็ได้เป็นผู้แบ่งปัน หรือถ้ามีความสันโดษ คือยินดีในส่วนที่ตนได้ พอใจในส่วนที่ตนมี เป็นต้น ลิงตัวเล็กทั้งสองย่อมได้ลิ้มรสผลไม้อันโอชะนั้นอย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะขาดความสามัคคี มีแต่ระแวงซึ่งกันและกัน อาศัยแต่ความโลภเป็นที่ตั้ง มันจึงสูญเสียผลไม้ที่ควรได้อย่างน่าสงสาร ... นิทานคุณธรรม ตอน ลิงแย่งผลไม้

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง ลักษณะคนดีและคนไม่ดี

ธรรมะก่อนนอน ตอน ลักษณะคนดีและคนไม่ดี

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง ลักษณะคนดีและคนไม่ดี @#@ คนดีกับคนไม่ดีนั้น ถ้าดูจากภาพลักษณ์ภายนอก เช่น รูปร่างหน้าตา การแต่งเนื้อแต่งตัว วุฒิการศึกษา ตลอดจนฐานะความเป็นอยู่แล้ว ก็อาจแยกไม่ออก เพราะคนดีบางคนอาจมีภาพลักษณ์ภายนอกที่ด้อยกว่าคนไม่ดีก็ได้ ขณะที่คนไม่ดีถึงขั้นเป็นภัยต่อสังคม แต่ภาพลักษณ์ภายนอกกลับดูดีกว่าคนอื่นๆ ก็มี ภาพลักษณ์ภายนอก จึงไม่ใช่ตัวชี้วัดความดีหรือไม่ดีของคน ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๗๓ พระพุทธเจ้าได้ตรัสลักษณะของคนดี และคนไม่ดีไว้อีกแง่มุมหนึ่ง ดังนี้
        ๑. คนดี แม้ไม่มีใครถามก็พูดถึงความดีของผู้อื่นได้ ส่วนคนไม่ดี แม้เขาจะถามก็ไม่ยอมพูดถึงความดีของผู้อื่นเลย
        ๒. คนดี แม้จะถูกใครถามก็ไม่พูดถึงความเสียหายของคนอื่น ส่วนคนไม่ดี แม้เขาไม่ถาม ก็ชอบพูดถึงแต่เรื่องเสียหายของชาวบ้าน
        ๓. คนดี แม้ไม่มีใครถามก็พูดถึงความเสียหายของตนเองได้ ส่วนคนไม่ดี แม้จะถูกถามอย่างไรก็ไม่ยอมปริปากถึงความเสียหายของตนเลย
        ๔. คนดี แม้ใคร ๆ จะถามก็ไม่พูดถึงความดีของตนง่าย ๆ ส่วนคนไม่ดี ถึงไม่มีใครถามเลยก็พูดถึงแต่เรื่องความดีของตนเอง
        พระพุทธพจน์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าความดีหรือไม่ดีของคนนั้นอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติตนไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ภายนอก แม้ภาพลักษณ์ภายนอกจะเป็นสิ่งที่จำเป็นระดับหนึ่ง แต่ต้องควบคู่ไปกับลักษณะคนดีที่มีอยู่ข้างใน จึงจะดีครบด้าน พระพุทธพจน์นี้จึงเป็นคำสอนที่ฟังง่าย ๆ แต่ให้คุณค่าสูง ถ้านำมาเป็นบรรทัดฐานตรวจสอบตัวเองแล้วปรับปรุงการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้ ทั้งชีวิตส่วนตัวและสังคมก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมิใช่น้อยทีเดียว


ธรรมะกับชีวิต ตอน ลักษณะต้องห้ามของคนไข้

ธรรมะกับชีวิต

ธรรมะกับชีวิต ตอน ลักษณะต้องห้ามของคนไข้ ... เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ได้ป่วย สถานที่แห่งแรกและบุคคลแรกที่คนคิดถึง ก็คือโรงพยาบาล และหมอ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันคนไข้ที่ไปโรงพยาบาลมีจำนวนมากขึ้น บางแห่งจึงต้องใช้เวลาเข้าคิวรอคอยเป็นเวลาร่วมครึ่งวันจึงจะได้พบหมอ แม้แต่โรคเองก็ดูเหมือนจะพัฒนาขึ้นไปตามความเจริญของคนด้วย จะเห็นได้ว่ามีโรคแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจำนวนคนไข้และความซับซ้อนของโรค ทำให้ปัญหาในการรักษาพยาบาลยังคงอยู่ตลอดไป แม้ความเจริญทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปแค่ไหนก็ตาม แต่ทั้งนี้การปฏิบัติตัวของคนไข้เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญด้วย
        ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๒๓ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงคนไข้ที่พยาบาลยากไว้ ๕ ลักษณะคือ
       ๑. มักทำสิ่งที่ไม่เป็นที่สบาย เช่น ชอบฝืนคำสั่งหมอและพยาบาล เป็นต้น
       ๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย เช่น กินหรือนอนเกินประมาณ เป็นต้น
       ๓. ไม่กินยาตามที่หมอหรือพยาบาลสั่ง
       ๔. ไม่บอกอาการป่วยตามความเป็นจริงแก่ผู้พยาบาล
       ๕. ไม่อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น
        มีคำพระว่า “พยาธิธัมโมมหิ พยาธิงอนะตีโต เราจะต้องเจ็บไข้แน่ ไม่มีทางพ้นไปได้” เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หมอก็ดี พยาบาลก็ดี หรือแม้แต่หยูกยาเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ตัวของเราต้องช่วยตัวเองด้วย คือ ถ้าประสงค์ให้หายป่วยโดยเร็ว ก็ต้องหลีกเลี่ยงลักษณะที่ไม่ดีทั้ง ๕ ประการ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นเสีย


นิทานคุณธรรม ตอน ลิงเปิดแผล

นิทานคุณธรรม 1

นำเสนอ "นิทานคุณธรรม" ประจำวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ เรื่อง ลิงเปิดแผล ซึ่งเสนอนิทานคุณธรรมเป็นตอนแรกนะครับ จะเป็นอย่างไร เชิญติดตามอ่านกันเลย ... มีเรื่องเล่าว่า ลิงฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ วันหนึ่งลิงน้อยตัวหนึ่งกระโดดไปตามกิ่งไม้แต่คว้ากิ่งไม้พลาด ตกลงมากระแทกกับตอไม้เข้าอย่างจัง จนบาดเจ็บเป็นแผลที่ท้องมีเลือดไหลออกมา ลิงตัวอื่น ๆ เห็นเข้าจึงลงจากต้นไม้พากันไปแหวกดูแผล แผลที่มีอยู่เดิมก็ฉีกกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดลิงตัวนั้นก็จบชีวิตอย่างทรมานเพราะความอยากรู้อยากเห็นของลิงทั้งหลาย
        หากจะกล่าวถึง "ความอยากรู้อยากเห็น" สำหรับความอยากรู้อยากเห็นนั้น เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของคนและสัตว์ มีทั้งคุณและโทษ จึงต้องมีควบคู่ไปกับการใช้วิจารณญาณ แรกสุดก็คือวิธีการที่จะทำให้รู้ให้เห็นว่า เป็นวิธีที่ทำให้ใครเดือดร้อนเสียหายหรือไม่ เพราะการกระทำเพื่อจะได้รู้ได้เห็นให้สมอยากนั้น บางทีก็เป็นการสร้างปัญหาให้คนอื่นเหมือนฝูงลิงที่พากันไปแหวกดูแผลจนลิงตัวหนึ่งต้องตายไป
       ต่อมาก็คือเรื่องที่อยากรู้อยากเห็น ต้องรู้ตัวว่าจะรู้ไปเพื่ออะไร คือรู้แล้วละเพราะได้บทเรียนที่เป็นอุทาหรณ์ รู้แล้วเริ่มเพราะเห็นตัวอย่างที่ดี หรือรู้แล้วหลงเหมือนคนที่อยากลองแล้วติดในอบายมุขหรือคนที่จ้องจะเอาสิ่งที่รู้นั้นไปเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าไม่ใช่ทั้งสามเรื่องนี้ก็ต้องเป็นเรื่องสุดท้าย คืออยากรู้ขึ้นมาเฉย ๆ ไม่มีเหตุผล เป็นแค่ใจอยากแล้วขวนขวายเพื่อสนองความอยากอย่างเดียว
        ไหน ๆ คนเราก็มีธาตุแท้ของความอยากรู้อยากเห็นติดตัวมาด้วยกันทุกคน จะเลิกก็ไม่ได้ ก็จงใช้วิจารณญาณเข้ากำกับ ให้ความอยากรู้อยากเห็นนั้นเป็นพลังในทางสร้างสรรค์ความดีงามเท่านั้น เพราะความอยากรู้อยากเห็นที่ขาดสติ มักทำให้สูญเปล่าไปกับเรื่องไร้สาระบ้าง ทำให้ต้องเดือดร้อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งบ้าง ไม่เฉพาะเรื่องลิงเปิดแผลนี้เท่านั้น ในชีวิตจริงก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วไม่น้อยทีเดียว

#นิทานคุณธรรม

ธรรมะก่อนนอน ตอน ลักษณะคนดี

ธรรมะก่อนนอน 5

ธรรมะก่อนนอน ตอน ลักษณะคนดี ^_^ การเลือกคนดีเป็นปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะความคิดจิตใจของคนเป็นเรื่องยากจะหยั่งถึงได้ ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีจึงแสดงลักษณะสำคัญของคนดีที่พอจะมองเห็นไว้ ๕ ประการ คือ
       ๑. นานะยัง นะยะตี ไม่ชักนำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น ชักนำให้เสพของมึนเมา เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านการทำงาน เป็นต้น
       ๒. อธุรายัง นะ ยุญชะติ ไม่ทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ คือรู้จักเคารพในฐานะและหน้าที่ของผู้อื่น ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง หรือสร้างความวุ่นวาย แต่มุ่งทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
       ๓. สุนะโย เสยยะโส โหติ เป็นผู้นำในทางที่ดี เช่น นำให้เว้นจากอบายมุข มีเมตตากรุณา ซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน แม้การทำดีบางครั้งจะต้องพบอุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ สามารถยืนหยัดบนความถูกต้องได้อย่างมั่นคง
       ๔. สัมมา วุตโต นะ กุปปะติ ไม่โกรธเมื่อถูกชี้แนะ เพราะมุ่งต่อความดีเป็นสำคัญ เมื่อมีใครแนะนำทักท้วงในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็จะยินดี รู้สึกเหมือนผู้นั้นมาบอกขุมทรัพย์ให้
       ๕. วินะยัง ปะชานาติ ชอบระเบียบวินัย เคารพกฎหมายและกติกาของสังคม แม้มีโอกาสก็ไม่ใช้อภิสิทธิ์ เพราะเห็นกฎหมายว่าเป็นทั้งเครื่องคุ้มครองและเป็นเครื่องจัดสรรความเท่าเทียมกันของมนุษย์ การทำลายกฎหมายก็คือการทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเพื่อนมนุษย์อ่อนแอหรือเกิดปัญหาก็ยากที่จะมีความสุขอยู่ได้ตามลำพัง
       ถ้าเลือกคนให้มากวาดถนน รดน้ำต้นไม้ ก็เป็นเรื่องง่ายเพราะถึงจะได้คนไม่ดีแต่ความเสียหายก็คงไม่มาก แต่ถ้าเลือกมาเป็นเพื่อน เป็นคู่ชีวิต หรือมาทำงานใหญ่ให้ประเทศชาติ ควรจะพิจารณาให้มาก เพราะถ้าเลือกผิดก็จะผิดหวัง กลัดกลุ้ม และหงุดหงิดไปนาน เข้าทำนองว่า "ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย" นั่นแล


ธรรมะก่อนนอน ตอน แรงอธิษฐาน

ธรรมะก่อนนอน ตอน แรงอธิษฐาน

ธรรมะก่อนนอน ตอน แรงอธิษฐาน !!! อธิษฐานมิใช่การขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยบันดาลให้สมปรารถนาตามที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่หมายถึง ความตั้งใจมั่นที่จะทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเคร่งครัด จริงจัง เช่น การอธิษฐานของพระภิกษุสงฆ์ที่จะอยู่จำพรรษาในอาวาสนั้น ๆ เป็นเวลา ๓ เดือน นับแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นต้นไป ซึ่งทำให้เกิดประเพณีที่ชาวพุทธส่วนใหญ่พากันตื่นตัวตั้งใจประกอบคุณงามความดี ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเหมือนพระสงฆ์เช่นกัน ความดีที่ควรอธิษฐานตั้งมั่นไว้ในใจในโอกาสเข้าพรรษานี้ แม้จะมีหลายประการ แต่สรุปได้เป็นหมวดหมู่ดังนี้
        ๑. ปิดกั้นอกุศลมูล คือ ตั้งใจที่จะงดเว้นจากการทำชั่วทุกชนิด รวมถึงงดเว้นสิ่งเสพติดหรืออบายมุขต่างๆ
        ๒. เพิ่มพูนบุญกุศล คือ ตั้งใจทำความดีทุกอย่าง ไม่เบื่อหน่ายในการสร้างกุศล แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
        ๓. ทำจิตของตนให้ผ่องใส คือ รู้จักปล่อยวางความคิดฝ่ายต่ำ สละอารมณ์ที่ขุ่นมัวเศร้าหมองให้พ้นไป ไม่หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่เป็นอกุศล 
        ในโลกนี้ มากไปด้วยคนที่มีความรู้ แต่หากขาดเสียซึ่งการอธิษฐาน ซึ่งหมายถึง ขาดความตั้งใจจริง ที่จะยึดมั่นในการทำความดี มีผลให้ความรู้นั้นก็เลยให้ประโยชน์น้อย เพราะความรู้ทุกอย่างเป็นเพียงเครื่องมือที่รอการนำไปปฏิบัติ และหัวใจสำคัญของการปฏิบัติ ก็คือความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว หากมีสิ่งนี้อยู่ในใจ ไม่ว่าจะปรารถนาความดีงามของชีวิต หรือต้องการสิ่งพึงประสงค์อื่นใด ก็ย่อมจะพบความสำเร็จได้ด้วยแรงอธิษฐานเป็นแน่แท้

ธรรมะกับชีวิต ตอน แรงปรารถนา

ธรรมะกับชีวิต 5

ธรรมะกับชีวิต ตอน แรงปรารถนา +++ ความปรารถนาของคนย่อมไม่มีสิ้นสุด เพราะเมื่อได้สมปรารถนาในสิ่งใดแล้ว ไม่ช้าก็จะเกิดความปรารถนาในสิ่งใหม่ขึ้นอีก เป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงจุดจบของชีวิต
       คนคนหนึ่ง รับเงินเดือนเดือนละหนึ่งหมื่นบาท เขาคิดว่าถ้าได้เงินเดือนสองหมื่นบาทเมื่อใด เขาจะมีความสุขมากที่สุด เมื่อได้สองหมื่นบาทจริง ๆ เขาก็มีความสุขจริง ๆ เหมือนกัน แต่ไม่นานก็อยากได้ถึงสามหมื่น ได้สามหมื่นแล้วก็อยากได้สี่หมื่นต่อไป ข้อสังเกตสำคัญอยู่ที่เมื่อเขาไม่ได้สี่หมื่นบาท ถ้าความปรารถนารุนแรงเท่าใด ความผิดหวังก็รุนแรงเท่านั้น ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ถ้าวันหนึ่งเขาต้องกลับไปรับเงินเดือนสองหมื่นบาทเหมือนเดิม เขาจะเป็นทุกข์ กลัดกลุ้ม น้อยใจ จนชีวิตแทบหาความสุขไม่ได้ ที่น่าแปลกใจก็คือ เขาก็เป็นคนคนเดียวกับที่เคยมีความสุขมากที่สุดตอนที่ได้เงินเดือนสองหมื่นบาทนั่นเอง ความสุขมากที่สุดของเขาบัดนี้หายไปไหน หายไปได้อย่างไร 
   คำตอบก็คือความสุขของเขายังอยู่ เพียงแต่เขาถูกแรงปรารถนาหลอกล่อให้เตลิดไปจนลืมตัว ลืมสติ ลืมกระทั่งว่าจะต้องจัดการ บริหาร และสร้างวิธีคิดอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพราะความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ได้สมปรารถนานั้น ก็คือเชื้อหรือชนวนที่ก่อให้เกิดความปรารถนาต่อ ๆ ไปอีก ถ้าปล่อยไปเช่นนี้ ทุกคนก็จะตายลงในท่ามกลางความไม่สมหวัง เว้นเสียแต่จะรู้จักมีความสุขกับสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว ถัดจากนั้น เมื่อปรารถนาอะไร ก็ทำไปตามเหตุผลที่ควรจะต้องทำ

       รู้จักวิธีคิดและฝึกความคิดให้ได้อย่างนี้ แม้จะยังมีความปรารถนา แต่ก็ไม่ตกเป็นทาสของแรงปรารถนา

ธรรมะกับความรัก ตอน เรือนรัก

ธรรมะกับความรัก
      เมื่อพูดถึงความรัก คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงความรักระหว่างหนุ่มสาวก่อนความรักประเภทอื่น ความจริงก็มีเหตุผล เพราะความรักระหว่างหนุ่มสาวนี้เองเป็นเบื้องต้นของการก่อเกิดความรักอื่น ๆ อย่างน้อย ๔ ประเภท คือ  
       ๑. ความรักระหว่างสามีและภรรยา เป็นความรักที่พัฒนามาจากความรักระหว่างหนุ่มสาวจนเมื่อเกิดความมั่นใจต่อกัน จึงตัดสินใจใช้ชีวิตคู่เป็นสามีภรรยา ความรักชนิดนี้ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ ความอดทน และรู้จักให้เกียรติกันเป็นสำคัญ
       ๒. ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก เป็นความรักที่มั่นคงลึกซึ้ง และช่วยสนับสนุนให้ความรักระหว่างสามีภรรยามั่นคงยิ่งขึ้น ความรักระหว่างพ่อแม่ลูกนี้ ต้องยึดมั่นในความเมตตากรุณา และความกตัญญูรู้คุณเป็นหลัก
       ๓. ความรักต่อญาติผู้ใหญ่ นอกจากสามีภรรยาและลูกแล้ว ปู่ย่าตายายและญาติผู้ใหญ่อื่น ๆ ก็เป็นศูนย์รวมแห่งความรักด้วย ในฐานะบุพการีชนผู้บุกเบิกสร้างครอบครัวก่อน ความรักต่อบุพการีชนเหล่านี้ต้องมีความกตัญญูรู้คุณและความเคารพยำเกรงเป็นพื้นฐาน
       ๔. ความรักระหว่างญาติพี่น้อง เป็นความผูกพันทางสายเลือด แต่ในความเป็นจริง พี่น้องที่รักกันก็มี พี่น้องที่แตกกันก็มาก การจะผดุงความรักชนิดนี้ไว้ได้ ต้องอาศัยความมีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูล ความหนักแน่น และรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา เป็นเครื่องสนับสนุน 
       ความรักทั้ง ๔ ประเภทนี้ หากมีอยู่ครบในเรือนใด เรือนนั้นก็จะกลายเป็นเรือนรัก ถึงจะทุกข์ยากผิดหวังมาจากที่ใด ก็จะมีเรือนรักนี่แหละเป็นที่รองรับชีวิต ถ้าขาดความรักทั้ง ๔ นี้แล้ว แม้จะมีเงินทอง มีชื่อเสียงเกียรติยศ หรือได้รับความสำเร็จจากภายนอกมากมาย แต่เมื่อต้องกลับมาบ้านที่มีสภาพไม่ต่างจากเรือนร้าง ชีวิตก็จะหาความสุขได้ยาก .... ธรรมะกับความรัก ตอน เรือนรัก

ธรรมะก่อนนอน ตอน เรื่องธรรมดา

ธรรมะก่อนนอน

ธรรมะก่อนนอน ประจำวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๙ นำเสนอในตอนที่มีชื่อว่า เรื่องธรรมดา สำหรับ เรื่องธรรมดานั้น หมายถึง เรื่องที่ไม่แปลกประหลาด ไม่น่าอัศจรรย์ คนทั่วไปมักให้ความสำคัญน้อยกว่าเรื่องผิดธรรมดาที่เป็นปรากฏการณ์พิเศษ บางครั้งอาจถึงขั้นมองข้าม ไม่อยากสนใจให้เสียเวลา แต่ในชีวิตของคนเรานี้มีเรื่องธรรมดาอยู่ ๕ เรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด กล่าวคือ
        ๑. ชราธัมมตา ต้องแก่เป็นธรรมดา
        ๒. พยาธิธัมมตา ต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา
        ๓. มรณธัมมตา ต้องตายเป็นธรรมดา
        ๔. ปิยวินาภาวตา ต้องพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา
        ๕. กัมมัสสกตา ต้องรับผลกรรมเป็นธรรมดา
        ทั้ง ๕ หัวข้อนี้ ในทางธรรมสอนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเอาใจใส่ ต้องพิจารณาอยู่อย่างเนือง ๆ ให้เข้าใจและยอมรับอย่างถ่องแท้ เพราะจะทำให้เข้าใจชีวิตได้ถูกต้องและมีความพร้อมทั้ง ๒ ระดับ คือพร้อมที่จะรับ ซึ่งหมายถึง เมื่อความแก่ ความเจ็บ เป็นต้น มาถึง ก็จะมีสติ ไม่ตื่นตระหนก หรือเป็นทุกข์เกินกว่าเหตุ กับพร้อมที่จะเริ่ม คือเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่หนีไม่พ้น จะได้เริ่มตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท แล้วเร่งสร้างคุณค่าและสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง

        ลองคิดล่วงหน้าดูก่อนก็ได้ว่า ถ้าต้องประสบกับปรากฏการณ์ ๕ ข้อนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเดือดร้อนวุ่นวายจนไม่สงบทุเลา หรือท้อแท้ซบเซาจนสิ้นสุข ก็แสดงว่าท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ ยังปฏิบัติผิดแม้ต่อเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องธรรมดา ๆ

ธรรมะกับชีวิต ตอน เรื่องของคนแก่

ธรรมะกับชีวิต 4

ธรรมะกับชีวิต ตอน เรื่องของคนแก่
      เป็นที่รู้กันว่า ทุกขณะที่เวลาผ่านไป เราก็แก่ลงไปตามลำดับ ผ่านไปครบหนึ่งปีก็แก่ลงไปอีกหนึ่งปี ความแก่ของร่างกายนี้ไม่มีใครปรารถนา ในทางพระพุทธศาสนาถึงกับระบุไว้ว่า ชราปิ ทุกขา แปลว่า ความแก่เป็นทุกข์ เพราะเป็นที่รวมของความถดถอย ตั้งแต่ร่างกาย อวัยวะ กำลังวังชา และความทรงจำคิดอ่านต่าง ๆ แต่ก็เป็นความเสื่อมที่ไม่มีใครเอาชนะได้

       ความแก่อีกอย่างหนึ่ง คือความแก่ทางพฤติกรรมหรือนิสัยใจคอ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ เสริมสร้างได้ และควรสนใจให้มาก เพราะเกี่ยวข้องกับอนาคตและความสุขทุกข์โดยตรง ความแก่ชนิดนี้มีทั้งดีและไม่ดี ดังมีผู้ยกเป็นตัวอย่างไว้ว่า
แก่ใช้เงินเกินตัวเรื่องพัวพัน          แด่พนันวันหน้าท่าต้องแย่
แก่เมาเหล้าเมารักมักปรวนแปร          แก่ยุแหย่นินทาแก่สาบาน
แก่สอพลอยอให้คิดเพราะอิจฉา          แก่ตัณหาพาจิตคิดฟุ้งซ่าน
แก่ขี้เกียจหลังยาวไม่เข้าการ          แก่หลบงานหายหน้าเป็นอาจิณ
แก่เมตตาการุณมีบุญหนัก          แก่รู้จักละบาปกำราบสิ้น
แก่เอื้อเฟื้อผู้คนได้ยลยิน          แก่หากินสินทรัพย์นับอนันต์
แก่พากเพียรเรียนดียิ่งมีชื่อ          แก่สัตย์ซื่อจะสร้างทางสุขสันต์
แก่ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกลมเกลียวกัน          แก่รู้ทันชาติชราพาปล่อยวาง
       เมื่อเวลาผ่านไปอีกหนึ่งปี ไม่ควรคิดถึงเฉพาะความแก่ทางร่างกายเท่านั้น แต่ควรศึกษาพฤติกรรมหรือความเคยชินที่ผ่านมาว่าจะต้องลดหรือเพิ่มความแก่ชนิดใดบ้าง เพื่อให้แก่อย่างมีคุณค่าหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายิ่งแก่ยิ่งมีราคา

ธรรมะก่อนนอน ตอน รู้ว่าไม่รู้

ธรรมะก่อนนอน 1

ธรรมะก่อนนอน ตอน รู้ว่าไม่รู้ ฿฿฿ ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในชีวิต ควบคู่กับความสามารถ และความประพฤติที่ดี และยิ่งถ้าเป็นความรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้ด้วยแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญแห่งความรู้ ความสามารถ และความประพฤติที่ดีทั้งปวง
ครั้งพุทธกาลมีโจร ๒ คน นัดแนะกันไปลักทรัพย์ของชาวบ้านที่ไปทำบุญในวัด เมื่อไปถึง โจรคนหนึ่ง ระหว่างที่รอจังหวะลงมือนั้นก็นั่งฟังเทศน์ไปด้วย ทำให้เกิดความสำนึกในบาปบุญคุณโทษ เปลี่ยนใจไม่ทำชั่วอีกต่อไป ส่วนอีกคนหนึ่งไม่สนใจอะไรทั้งนั้น พอได้จังหวะที่คนอื่นเผลอก็ล้วงกระเป๋าเอาทรัพย์ไปได้ เมื่อกลับไปถึงที่พักก็พูดถากถางโจรที่กลับใจว่า “ที่ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือมาก็เพราะโง่เกินไป” โจรกลับใจคิดว่า “เพื่อนคนนี้ สำคัญว่าตนเป็นคนฉลาด เพราะความเขลาโดยแท้” วันต่อมา เขาได้มีโอกาสทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า “บุคคลใดโง่ แล้วรู้สึกว่าตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นแหละ เป็นคนฉลาดเพราะความรู้ชนิดนั้น ส่วนบุคคลใดโง่ แต่สำคัญตนว่าฉลาด บุคคลนั้น เป็นคนโง่จริง ๆ”
       โดยปกติ ไม่มีใครที่จะรู้ทุกเรื่อง ถ้าไม่รู้แล้วรู้ตัวว่าไม่รู้ ความไม่รู้นั้น ก็ไม่ถึงกับเสียประโยชน์เสียทีเดียว เพราะยังเป็นช่องทางที่จะให้เกิดความรู้จริง ๆ ขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่รู้แล้วคิดว่ารู้ ความรู้จริง ๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความสามารถและความประพฤติก็พลอยด้อยไปด้วย รู้ว่าไม่รู้ จึงเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนฉลาดทั้งหลาย

ต้องการอ่านธรรมะก่อนนอนเรื่องอื่นๆ เชิญที่ "ธรรมะก่อนนอน"

ธรรมะสอนใจสั้นๆ ตอน รักพ่อต้องพอเพียง

ธรรมะสอนใจสั้นๆ 3

ธรรมะสอนใจสั้นๆ ตอน รักพ่อต้องพอเพียง
      คำว่า พอเพียง เมื่อจับเอาความก็พอจะเทียบกันได้กับคำว่า สันโดษ หมายถึงความยินดี ๓ อย่างคือ ๑. ยินดีในสิ่งที่ได้มาแล้ว ๒. ยินดีตามเรี่ยวแรงและความสามารถของตน และ ๓. ยินดีในทางที่ถูกต้อง คำว่าพอเพียงก็ดี สันโดษก็ดี จึงไม่ได้หมายถึงหยุด เลิก หรือปฏิเสธ แต่หมายถึงการสร้างกรอบ หรือเกณฑ์ในการปฏิบัติขึ้นมา แล้วดำเนินไปตามกรอบที่ดีงามนั้น
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นประดุจพ่อของแผ่นดิน ทรงให้ความสำคัญกับความพอเพียงเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชทานพระบรมราโชวาท ตลอดจนปฏิบัติพระองค์ตามแนวทางนี้เสมอมา การที่พสกนิกรชาวไทยจะเทิดทูนพระองค์ท่านด้วยการยึดถือหลักความพอเพียงนั้น นับว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีที่สูงส่งและเกิดประโยชน์ได้จริง เพราะผลของการปฏิบัติเช่นนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งของตนเองและของประเทศชาติโดยรวม เนื่องจากผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม ที่ได้มาบนพื้นฐานของความพอใจตามที่ได้มาแล้ว พอใจตามกำลังความสามารถของตน และพอใจภายในขอบเขตของความถูกต้อง จะเป็นผลประโยชน์ที่มั่นคงยั่งยืน ในแง่เศรษฐกิจ คำว่า พอเพียง จึงมิได้หมายความเพียงว่าต้องพอ หรือต้องหยุด แต่มุ่งแสดงว่าต้องเป็นเศรษฐกิจที่มีเหตุมีผล เป็นเศรษฐกิจที่มีความถูกต้องดีงาม ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการแสวงหาหรือการบริโภคก็ตาม 
       การรู้จักพอเพียงนี้ คือการปฏิบัติวิธีหนึ่งที่พูดได้เต็มปากว่า เป็นวิธีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวของเราทั้งหลายอย่างตรงจุด และต้องด้วยพระราชประสงค์อย่างไม่ต้องสงสัย และเมื่อคนในแผ่นดินใช้ความพอเพียงนำทางจนพออยู่พอกิน ไม่ขาดแคลน ไม่เดือดร้อนแล้ว จะเป็นแผ่นดินที่มีความสุข พ่อของแผ่นดินก็ย่อมมีความสุขด้วยอย่างแน่นอน


ธรรมะสอนใจสั้นๆ ตอน รู้ทันจิต

ธรรมะสอนใจสั้นๆ

ธรรมะสอนใจสั้นๆ ตอน รู้ทันจิต มนุษย์ทุกคนต่างเคยประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจที่ทำให้เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มีความทุกข์จำนวนไม่น้อยที่เกิดจากความคิดของมนุษย์เอง กล่าวคือ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มนุษย์ก็นำปัญหานั่นแหล่ะมาขบคิด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ยอมปล่อยผ่านจนติดอยู่ในกับดักความคิดของตนเอง เช่น เมื่อถูกเขาด่า ความจริงการด่าหรือคำด่าก็เป็นแค่เสียงที่มากระทบหู แต่พอไม่มีสติคือความรู้ตัวคอยกำกับไว้ ก็เผลอไปปรุงแต่งเสียงนั้นต่อ ความโกรธจึงเกิดขึ้น แล้วคิดวนเวียนอยู่แต่เรื่องนั้น ยิ่งเห็นหน้าคนที่ด่า ก็ยิ่งเอาเรื่องที่เขาด่ามาโกรธต่อ เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้สิ่งที่เขาด่าจะจบลงจนกลายเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม การดึงอดีตมาคิดวนเวียนอยู่เช่นนี้ จึงทำให้เป็นทุกข์ร่ำไป อุปมาเหมือนมีคนเอาเข็มมาทิ่มแทงให้เจ็บปวดแล้วหนีไป พออยู่ตามลำพังตัวเราเองนั่นแหล่ะก็เอาเข็มเล่มนั้นมาทิ่มแทงตัวเองต่อไปอีก

        วิธีการหนึ่งที่จะนำความทุกข์ชนิดนี้ออกจากใจก็คือการรู้ทันความคิด หมายถึงการใช้สติกำกับทุกครั้งเมื่อคิด และพยายามยับยั้งความคิดที่จะสร้างวิบากกรรมหรือสร้างทุกข์แก่ตนเอง เช่น เมื่อได้ยินคำด่า แล้วรู้สึกโกรธ ก็ให้เอาความรู้สึกตัวใส่เข้าไป มองให้เห็นสภาวะความโกรธที่กำลังเกิดขึ้น แค่รู้ทันอาการของจิตอย่างนี้เท่านั้นจิตจะปรุงแต่งต่อไปไม่ได้ สุดท้ายจะเห็นเพียงแค่ตัวรู้ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อุปาทานความยึดมั่นที่จะทำให้เกิดทุกข์จะถูกระงับไปโดยอัตโนมัติ

        คนทั่วไป แม้ไม่ใช่พระอริยะเจ้าก็สามารถฝึกจิตให้มีสติกำกับอยู่ตลอดเวลาได้ จิตที่รู้ทันจิตอย่างนี้นี่แหละจะไม่ฟุ้งซ่านหวั่นไหว ไม่เผลอไปคิดเรื่องที่จะทำร้ายตัวเอง ความทุกข์จะลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้น

ธรรมะกับความรัก ตอน รักบริสุทธิ์

ธรรมะกับความรัก

ธรรมะกับความรัก ตอน รักบริสุทธิ์
      ความรักเป็นสิ่งจรรโลงโลก เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และมีมากความหมายหลายนิยาม แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้สรุปความรักไว้เป็น ๓ ประเภท คือ
       ๑. ตัณหาเปมะ รักด้วยตัณหา ได้แก่ ความรักอย่างที่ชายกับหญิงรักกัน ซึ่งเป็นได้ทั้งน้ำผึ้งและยาพิษ คือให้ผลดีก็ได้ให้ผลร้ายก็มี แล้วแต่ว่าจะควบคุมได้แค่ไหน และถึงจะได้รับผลฝ่ายดี แต่ก็ยังอยู่ในวังวนแห่งการมุ่งสนองความอยากของตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหมายถึงความเห็นแก่ตัวนั่นเอง
       ๒. เคหะสิตะเปมะ รักด้วยสายเลือด เป็นความรักในเครือญาติ ระหว่างพ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายาย และลูกหลาน เป็นต้น ความรักชนิดนี้แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็มีลักษณะความเป็นพวกพ้องแฝงอยู่มาก มีโอกาสที่จะชักนำไปสู่ความเห็นแก่ตัวได้เหมือนข้อแรก
       ๓. เมตตาเปมะ รักด้วยเมตตา คือปรารถนาดีต่อผู้อื่นโดยสุจริตใจ เพราะเป็นความรักที่เกิดจากการเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง มองเห็นเข้าไปในเหตุปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้น เป็นความรักซึ่งเกิดจากปัญญาที่เข้าถึงความจริงโดยไม่มีแรงปรารถนาของตัวเองเข้าไปแทรกแซง
       ความรักสองอย่างแรก ทำให้ชีวิตหวานชื่นพอ ๆ กับทำให้ขมขื่นเมื่อผิดหวัง ทำให้มองโลกงดงามพอ ๆ กับที่ทำให้คนตาบอด เป็นความรักที่อยู่ในวงแคบ มีตัวตนและพวกพ้องเป็นฐาน จึงมีความเสี่ยงปนอยู่ แต่ความรักอย่างที่สามรักด้วยจิตเมตตาปรารถนาดีต่อกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ให้อภัยกัน เป็นความรักบริสุทธิ์ ปลอดภัย เป็นประโยชน์แก่เจ้าของความรักและเพื่อนร่วมโลกอย่างอเนกอนันต์ หากปลูกฝังให้มีควบคู่ไปกับความรักทั้งสองอย่างข้างต้นนั้นได้แล้ว โลกนี้ก็จะสวยสดงดงามไปด้วยอานุภาพแห่งรักบริสุทธิ์อย่างไม่ต้องสงสัย

ธรรมะกับความรัก ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2559

ธรรมะกับความรัก ตอน ระวังความรู้สึก

ธรรมะกับความรัก

ธรรมะกับความรัก ตอน ระวังความรู้สึก
       ความรู้สึกนึกคิดในใจคนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่จะพูดและทำอะไรทุกครั้งย่อมเริ่มมาจากความรู้สึกนึกคิดก่อน หากใครสามารถควบคุมจิตใจให้อยู่ในความดีได้ก็เท่ากับว่าควบคุมคำพูดและการกระทำให้ดีตามไปด้วย แต่เนื่องจากจิตใจนี้เป็นธรรมชาติที่ควบคุมได้ยากที่สุด เรื่องจึงกลายเป็นว่าบางครั้งแทนที่จะควบคุมความคิดได้ กลับถูกความคิดควบคุม แทนที่จะควบคุมความรู้สึกไว้ได้กลับถูกความรู้สึกควบคุม ทำให้ตกอยู่ในสภาพชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง

        ความรู้สึกชอบและไม่ชอบทั้งสองนี้ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนแบบตรงข้ามกัน กล่าวคือ คนเราเมื่อชอบกันแล้ว ก็ทำให้พอใจ เห็นใจ และปรารถนาดีต่อกัน เคารพให้เกียรติกัน สิ่งดี ๆ เหล่านี้ช่วยทำให้ผู้มีความรู้สึกนึกคิดในทางที่ชอบต่อกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แตกต่างจากความรู้สึกของบุคคลที่ไม่ชอบกัน ที่มักทำให้หมดความอาลัยไยดีต่อกัน ทำให้เห็นแก่ตัว ไม่มีความจริงใจต่อกัน ตลอดจนไม่ให้เกียรติเคารพยำเกรงกัน ซึ่งทำให้ผู้ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้ มีความเร่าร้อนทุกข์ใจ

       ดังที่กล่าวข้างต้นว่า จิตใจเป็นเรื่องที่ต้องควบคุม ความชอบใจหรือความไม่ชอบใจ แม้จะเป็นสภาวะที่ต้องมี ห้ามไม่ได้ หรือแม้แต่จะส่งผลดีได้ในบางแง่มุม แต่ก็เป็นเรื่องต้องควบคุมให้ชอบหรือไม่ชอบอย่างมีเหตุผล อย่างอิงหลักการและความถูกต้องให้มากที่สุด เพราะถ้าปล่อยไปตามอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างเดียว ความชอบ-ไม่ชอบนี้ จะเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่น และบางครั้งถึงขั้นหวนกลับมาทำร้ายตัวเองเลยก็มี

อ่านทั้งหมดของ +++ธรรมะกับความรัก

ธรรมะกับชีวิต ตอน คนกับรอยร้าวทั้งห้า

ธรรมะกับชีวิต 3

ธรรมะกับชีวิต ตอน คนกับรอยร้าวทั้งห้า @@@ อาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย แม้จะก่อสร้างอย่างมั่นคงดีเลิศเพียงใด หากพื้นซึ่งเป็นที่รองรับไม่แข็งแรงดีพอก็จะทรุดตัว แตกร้าว และพังทลายลงได้ ฉันใด ชีวิตของคนก็เช่นกัน คือ ถ้าพื้นไม่ดีเสียอย่างเดียว ก็จะล่มสลายได้ในที่สุด ฉันนั้น และวิธีดูความมั่นคงของพื้นท่านให้สังเกตที่รอยร้าว เช่น ถ้าเห็นตึกหลังใดมีรอยร้าวปรากฏก็สันนิษฐานได้ว่า ฐานหรือพื้นของตึกหลังนั้นไม่ดี ในส่วนของคน ท่านผู้รู้แนะให้ดูที่รอยร้าวคือพฤติกรรม 5 อย่าง คือ
       1. โหดร้าย ฆ่าหรือเบียดเบียนผู้อื่นในทางชีวิตและร่างกาย
       2. มือไว ลักขโมยหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทางใดทางหนึ่ง
       3. ใจเร็ว ประพฤติผิดประเวณี ขาดการยับยั้งชั่งใจ
       4. ขี้ปด ละทิ้งความสัตย์ความจริง ใช้ความเท็จเอาตัวรอดหรือแสวงหาผลประโยชน์
       5. หมดสติ เสพสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดจนทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาบ้าง ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจบ้าง
       โหดร้ายหนึ่ง มือไวหนึ่ง ใจเร็วหนึ่ง ขี้ปดหนึ่ง หมดสติหนึ่ง หากผู้ใดมีพฤติกรรมห้าอย่างนี้ปรากฏออกมา แสดงว่าพื้นชีวิตของผู้นั้นมีความเสียหาย ถ้าเป็นอาคารก็เริ่มมีรอยร้าวปรากฏ หากรอยร้าวนั้นใหญ่ขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาคารนั้นก็จะพังถล่มลงในที่สุด แต่ตึกร้าวก็ยังไม่น่ากลัวเท่าคนร้าว เพราะคนร้าวนั้น สามารถสร้างความเสียหายได้ลึกและกว้างขวางกว่ามาก ปัญหาอาชญากรรม และความเดือดร้อนวุ่นวายในทุกวันนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ สำหรับมนุษย์อย่างเราๆ ท่าน การมีไว้ซึ่งศีล 5 จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่สำคัญ ชีวิตของผู้ใดที่ตั้งอยู่บนฐานคือศีล 5 จะมั่นคง ไม่แตกร้าวพังทลายอย่างแน่นอน @@@ ธรรมะกับชีวิต ตอน คนกับรอยร้าวทั้งห้า

ธรรมะสอนใจสั้นๆ เรื่อง หยุด...ไม่ได้

ธรรมะสอนใจสั้นๆ
ธรรมะสอนใจสั้นๆ เรื่อง หยุด...ไม่ได้
       คำว่า หยุด มีความหมายหลายนัย เช่น หมายถึงอยู่กับที่ หรือไม่พัฒนา หรือไม่ทำอีกต่อไป ตัวอย่าง เช่น รถหยุด ก็คือ หยุดอยู่กับที่ หัวใจหยุดเต้น ก็คือชีวิตสิ้นสุดลง หยุดพูด หยุดทำ ก็หมายถึง ไม่พูดหรือไม่ทำสิ่งนั้นอีก หยุดเหล้าบุหรี่ ก็คือเลิกสิ่งนั้นเสีย การหยุดเป็นกิริยาอาการ ที่มีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือ ถ้าหยุดในสิ่งที่ควรกระทำ อาจก่อให้เกิดผลเสียหาย มากกว่าผลดี เช่น วัยเด็กควรศึกษาเล่าเรียน แต่หยุดเรียนเสีย ก็จะเป็นคนไม่มีความรู้ ขาดความเฉลียวฉลาด ขาดเครื่องมือในการประกอบอาชีพ หยุดทำความดี ความดีก็จะไม่เพิ่มขึ้น หรือหยุดสะสมทรัพย์ ก็จะไม่มีสมบัติเพิ่มขึ้นเป็นต้น
       พระพุทธศาสนาสอนให้หยุดทำชั่วทางกาย พูดชั่วทางวาจา และคิดชั่วทางใจ เพราะความชั่ว ไม่ก่อให้เกิดผลดี แต่ประการใด แต่มีสิ่งหนึ่งที่หยุดไม่ได้ คือ การหยุดทำความดี เพราะความดีเป็นสิ่งเชิดชูชีวิต ให้มีคุณค่าอยู่เสมอ คนดีนั้น โบราณกล่าวว่า "ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" หมายความว่า ความดีที่ทำไว้จนเป็นเนื้อแท้ของชีวิต จะพิทักษืรักษาเจ้าของความดี ให้ปลอดพ้นจากภัยทั้งปวง และตนเองก็ภาคภูมิใจในความดีของตน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้ทำความดีสม่ำเสมอ ทั้ง ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น การประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคม และการฝึกฝนจิตใจตนให้มีคุณธรรม เพื่อน้อมนำตนให้ดำเนินไปในสังคม อย่างมีศักดิ์ศรี และงามสง่า ส่วนคนที่หยุดทำความดีนั้น นับว่าเป็นผู้ขาดความก้าวหน้า ไม่พัฒนาตน และเป็นคนล้าสมัย
       ดังนั้น สิ่งที่ควรหยุด คือ หยุดการทำชั่วทุกชนิด ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะความชั่วเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ที่หยุดไม่ได้ในชีวิต คือการทำความดี เพราะถ้าหยุดทำความดีเมื่อไร ชีวิตย่อมไม่พัฒนา มีแต่จะถอยหลัง เท่ากับว่า ได้สร้างความสิ้นหวังให้แก่ชีวิตตนเองโดยแท้

อ่านเพิ่มเติมที่ #ธรรมะสอนใจสั้นๆ

ธรรมะสอนใจสั้นๆ เรื่อง ยอดนักรบ

ธรรมะสอนใจสั้นๆ ตอน ยอดนักรบ
ธรรมะสอนใจสั้นๆ เรื่อง ยอดนักรบ >>>
       ในสมัยโบราณที่วิทยาการต่าง ๆ ยังไม่เจริญแพร่หลายเหมือนเช่นปัจจุบัน คนไทยในยุคนั้นมีวิธีการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากการสังเกตที่พฤติกรรมและสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ ดังเช่น ถ้าจะดูช้างว่ามีพละกำลังมากเพียงใดก็มักจะสังเกตในหน้าหนาว เพราะหน้าหนาวเป็นเวลาที่ช้างตกมัน เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นดุร้ายอาละวาด เจ้าของช้างจะดูได้ว่าช้างตัวไหนมีกำลังมากน้อยเพียงใด ถ้าจะดูความสวยงามของหญิงสาว โบราณท่านก็ให้ดูในหน้าร้อน เพราะหน้าร้อนหญิงสาวมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น ทำให้เห็นรูปร่างผิวพรรณที่สวยงาม ถึงกับมีคำพังเพยว่า “ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน”

        การดูพละกำลังของช้างและความสวยงามของหญิงสาวตามวิธีที่ว่านี้ ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยได้ใช้แล้วเพราะมีวิธีดูที่ทันสมัยกว่า แต่หลักการที่ให้ดูพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นเกณฑ์นี้ยังใช้ได้อยู่ เช่น ถ้าต้องการดูว่าคนเช่นใดเป็นยอดนักรบ ท่านให้สังเกตสิ่งที่ผู้นั้นมุ่งเอาชนะ ถ้าเขามุ่งมั่นที่จะเอาชนะตนเอง เขาก็เป็นยอดนักรบ ดังคำพระที่ว่า “บุคคลใดเอาชนะหมู่มนุษย์ตั้งหนึ่งล้านคนในสงครามได้ ยังไม่ชื่อว่าเป็นยอดแห่งผู้ชนะ ส่วนบุคคลใดเอาชนะตนเองได้เพียงคนเดียว บุคคลนั้นแลชื่อว่าเป็นยอดแห่งผู้ชนะ”

       ในงานหลายๆ ด้าน การเอาชนะผู้อื่นหรือสิ่งอื่นก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ความสำเร็จจะเกิดไม่ได้เลยถ้าเอาชนะตัวเองไม่ได้ก่อน เช่นเอาชนะความท้อแท้เบื่อหน่ายไม่ได้ เอาชนะความใจร้อนฉุนเฉียวไม่ได้ ในขั้นละเอียดไปกว่านั้น ความโลภที่คอยแทรกทุกขณะเมื่อมีโอกาสก็ดี ความหลงผิดเข้าใจผิดด้วยทฤษฎีส่วนตัวที่ฝังแน่นก็ดี เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุความดีทุกระดับ เป็นคู่ต่อสู้ที่เอาชนะยาก ผู้เปลื้องตัวเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ได้ท่านจึงเรียกว่าเป็นยอดนักรบ

#ธรรมะสอนใจสั้นๆ  #ธรรมะสอนใจ

"ธรรมะกับชีวิต" ตอน มนุษย์กับการฝึกฝน


"ธรรมะกับชีวิต" ตอน มนุษย์กับการฝึกฝน
      เป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่เรียนรู้และฝึกฝนตนเองได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น จนสามารถนำสัตว์อื่นมาฝึกแล้วใช้งานตามคำสั่งได้ ทั้งที่สัตว์บางชนิดมีร่างกายใหญ่โต มีพละกำลังเหนือกว่ามนุษย์ แต่ก็ไม่เคยปรากฏเลยว่ามีสัตว์ชนิดใดที่จะมีอำนาจเหนือมนุษย์ได้ เพราะการฝึกฝนนี้เองนอกจากจะทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์แล้ว ยังเป็นเหตุให้มนุษย์ด้วยกันเองเหนือกว่ากันได้อีก ในเรื่องการฝึกฝนนี้ ทางศาสนาได้แสดงหลักแห่งการฝึกฝนไว้ 3 ด้าน คือ

       1. ด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ต้องฝึกฝนพัฒนาเพื่อให้สามารถอยู่กับเพื่อนร่วมโลกได้ดี มีความอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ สัตว์ หรือมนุษย์ด้วยกัน
       2. ด้านจิตใจ ต้องฝึกจิตใจให้เยือกเย็นมั่นคง มีศีลธรรม ให้เป็นแหล่งกำเนิดความดีงาม เป็นต้นทางแห่งการประพฤติดีปฏิบัติชอบ
       3. ด้านปัญญา ต้องฝึกคิดฝึกมองปัญหาต่าง ๆ ในกรอบของเหตุผล เริ่มตั้งแต่เรื่องที่เห็นง่าย เข้าใจง่าย ไปจนถึงเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง จนความคิดผิดเห็นผิดค่อยลดลงไปตามลำดับ ทำให้ชีวิตดำเนินไปตามครรลองความถูกต้องดีงามได้โดยอัตโนมัติ

       ถ้ามองย้อนกลับไปให้เห็นหมวดหมู่ของปัญหา ก็จะเห็นว่าไม่พ้นไปจากเรื่องที่กล่าวมา คือปัญหาเกี่ยวกับการจัดการสภาพแวดล้อม อันได้แก่ ธรรมชาติ มนุษย์และสัตว์ที่เกี่ยวข้องบ้าง ปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตซึ่งเป็นต้นทางของพฤติกรรมบ้าง ปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติและความเชื่อบ้าง ถ้าฝึกฝนพัฒนาตนในสามด้านดังกล่าวแล้วให้ดี ชีวิตก็จะเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ดังคำพระที่ว่า “ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกฝนแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด”

"ธรรมะกับชีวิต" ตอน มนต์รัก

"ธรรมะกับชีวิต" 1

"ธรรมะกับชีวิต" ตอน มนต์รัก
      ธรรมะสอนใจสั้นๆ ขอเสนอธรรมะกับชีวิต ตอน มนต์รัก ประจำวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๙ ... ธรรมชาติของทุกคนย่อมต้องการเป็นที่รักของผู้อื่น ไม่ต้องการเป็นที่รังเกียจของใคร ๆ วิธีทำให้คนอื่นรักมีหลากหลายตามความเชื่อที่ต่างกันไป ไม่เว้นแม้แต่การหันไปพึ่งคุณไสยหรือเวทมนต์คาถา เพื่อช่วยดลใจให้คนอื่นรัก สำหรับทางพระพุทธศาสนาได้สอนหลักปฏิบัติสำหรับยึดเหนี่ยวใจคนให้เกิดความรัก ที่เรียกว่า สังคหวัตถุหรือมนต์รักไว้ ๔ ประการ คือ
       ๑. ทาน เป็นผู้ให้ ยินดีเสียสละแบ่งปัน ทั้งเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น และเพื่อแสดงน้ำใจ
       ๒. ปิยวาจา จะพูดอะไรก็พูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะน่าฟัง แม้จะต้องตำหนิกล่าวโทษ ก็แสดงเหตุผลด้วยถ้อยคำสุภาพ ไม่หยาบกระด้างหรือใช้อารมณ์
       ๓. อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกำลังกาย กำลังความคิด แม้เขาไม่ออกปากก็มีน้ำใจ ไม่ดูดาย
       ๔. สมานัตตตา วางตัวเหมาะสม คือวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย และเหมาะสมกับฐานะที่เป็น เช่น ในฐานะที่เป็นลูก เป็นพ่อแม่ เป็นสามีภรรยา เป็นเพื่อน เป็นต้น
       ความรักเป็นเรื่องของจิตใจ การที่จะกล่าวเรื่องของจิตใจนั้น ต้องอาศัยความดีเป็นสะพานเชื่อมให้เกิดความซาบซึ้งประทับใจต่อกัน มนต์รักจึงไม่ใช่มนต์ดำที่ปกปิด แต่เป็นมนต์ขาวที่เปิดเผย ไม่ใช่มนต์เสก แต่เป็นมนต์สร้าง ดังคำประพันธ์ที่ว่า
           อันวิชาอาคมผสมเสน่ห์        สำแดงเล่ห์หลอกคนว่ามนต์ขลัง
           เสียเวลาประวิงไม่จริงจัง เพราะมนต์ขลังมีอยู่ทั่วในตัวเรา
           คือกิริยาวาจาอัชฌาสัย แม้ทำไว้ให้ดีไม่มีเฉา
           ประชาชนยลพักตร์ย่อมรักเรา ไม่ต้องเป่าเสกสั่งก็ขลังเอง 

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ธรรมะเรื่องล่าสุด

Recent Posts Widget