แนะนำ! บทความธรรมะอ่านมากที่สุดตอนนี้

ธรรมะสอนใจ ตอน ฟังแล้วไม่โกรธ

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน ฟังแล้วไม่โกรธ ... คำพูดสร้างความสุขและทุกข์ให้คนได้ง่ายที่สุด ในสุตตันตปิฎก คำภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จึงสอนวิธีฟังคำพูดของผู้อื่นเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ไว้ว่า ถ้อยคำที่ผู้อื่นจะพูดกับเรานั้นมี 5 ลักษณะคือ

       ๑. พูดได้ถูกกาลเวลาบ้าง ไม่ถูกกาลเวลาบ้าง
       ๒. พูดเรื่องจริงบ้าง เรื่องไม่จริงบ้าง
       ๓. พูดคำอ่อนหวานบ้าง คำหยาบคายบ้าง
       ๔. พูดเรื่องมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง
       ๕. พูดด้วยเมตตาบ้าง พูดด้วยโทสะบ้าง

       เมื่อเขากล่าวถ้อยคำเหล่านี้อยู่ พึงตั้งใจให้มั่นว่า จิตของเราจะไม่แปรปรวน จะไม่เปล่งวาจาหยาบคายโต้ตอบ เราจะเกื้อกูลแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขาเท่าที่ทำได้ จะมีเมตตาต่อเขา ไม่โกรธตอบ เราจะปรารถนาให้เขามีความสุข ไม่มีเวร ไม่พยาบาทต่อเขาเลย

       เพราะเราบังคับคนทั้งโลกให้พูดตามที่เราต้องการไม่ได้ จึงต้องบังคับตัวเองให้เข้มแข็งแทนด้วยการปฏิบัติตามคำสอนข้างต้น จิตใจที่เข้มแข็งและมีเมตตาจะทำให้บรรเทาความโกรธเสียได้ ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้น ดังคำประพันธ์ที่ว่า
ฆ่าความโกรธได้ก็หายทุกข์   เกษมสุขเสพสันติ์และหรรษา
ไร้ธุลีกลุ้มรุมสุมอุรา   ดั่งจันทราเมฆหมดไม่บดบัง
ไม่ฆ่าโกรธให้ตายไม่คลายทุกข์ จะหมายสุขเสพสันติ์นั้นอย่าหวัง
เหมือนเมฆหมอกราคีมีพลัง เข้าบดบังเปื้อนปะศศิธร
ธรรมะสอนใจ ตอน ฟังแล้วไม่โกรธ

ธรรมะสอนใจ ตอน ฟังหูไว้หู

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน ฟังหูไว้หู ... มีสำนวนไทยบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หมายความว่า การได้ยินได้ฟังจากคนอื่นถึงจะดูหนักแน่นน่าเชื่อถืออย่างไรก็ไม่เท่ากับได้พบได้เห็นด้วยตนเอง การจะเชื่ออะไรจะปฏิบัติอย่างไรจึงต้องไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน แม้ว่าเหตุการณ์หรือบุคคลเหล่านั้นจะน่าเชื่อถือและมีความสุจริต แต่คนที่สุจริตก็พลั้งเผลอ คิดผิด พูดผิด ทำผิดได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงพวกมีเจตนาแอบแฝง ท่านจึงสอนให้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองเสียก่อน เพื่อความรอบคอบยิ่งขึ้น เพราะการด่วนเชื่อในลักษณะไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่มีเหตุผล นั้น ย่อมเสี่ยงต่อการพูดและการกระทำที่ผิดพลาด แล้วนำมาซึ่งความเดือดร้อนหายนะได้

       เรื่องการใช้สติปัญญาประกอบความเชื่อนี้ ศาสนาพุทธได้สอนหลักความเชื่อที่เรียกว่ากาลามสูตร ไว้ ๑๐ ประการ คืออย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟัง ๆ กันมา อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อ ๆ กันมา อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรรกะ คือตรึก นึกคิดเอา อย่าเพิ่งเชื่อโดยอนุมาน คือคาดคะเนเอา อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้ และอย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูอาจารย์ของตน ต่อเมื่อได้ใช้สติปัญญาสอบสวนจนรู้และเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว จึงค่อยเชื่อและปฏิบัติตาม

       ฉะนั้น เมื่อได้ยินใครพูดหรือประสบเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม อย่าเพิ่งเชื่อหรือไม่เชื่อเสียทั้งหมด ควรฉุกคิดใช้สติปัญญาไตร่ตรองให้ทราบชัดตามเป็นจริงเสียก่อนแล้วจึงเชื่อและปฏิบัติไปตามนั้น เข้าทำนองฟังหูไว้หูนั่นเอง หากทำได้เช่นนี้ ชีวิตย่อมดำเนินไปโดยสวัสดิภาพ ปราศจากความผิดพลาดเสียหายอย่างแน่นอน ... ธรรมะสอนใจ ตอน ฟังหูไว้หู

ธรรมะสอนใจ ตอน ผลบุญ

ธรรมะสอนใจ.ผลบุญ

ธรรมะสอนใจ ตอน ผลบุญ ... การทำบุญเป็นกิจกรรมที่มีอยู่ในทุกศาสนา โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามีการทำบุญหลายวิธี เช่น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น เป็นวิธีชักนำให้คนเข้าหาความดี การทำบุญนั้นไม่ว่าจะมีกรรมวิธีแตกต่างกันอย่างไร ก็ทำให้เกิดความดีที่เป็นผลรวมเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือปิดกั้นอกุศล ไม่ให้ความชั่วได้ช่อง

        โดยธรรมชาติ ดีกับชั่วย่อมเป็นปฏิปักษ์กันเองอยู่ในตัว ขณะที่กำลังพูดไพเราะ จะไม่สามารถพูดคำหยาบได้ ขณะที่เกิดความรักอย่างท่วมท้นจะไม่สามารถโกรธได้ เมื่อเปิดช่องให้ความดีมากเท่าใด โอกาสของความชั่วก็น้อยลงเท่านั้น การทำบุญจึงไม่ใช่เป็นเพียงประเพณีหรือข้อบัญญัติที่เลื่อนลอย แต่มีผลดีต่อชีวิตจริง ๆ อย่างน้อย ๒ ระยะ คือ

         ระยะแรก ทำให้เกิดความสุขใจ บางคนพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง ความมีหน้ามีตาในสังคม แต่หาความสุขใจไม่ค่อยได้ ที่เป็นดังนั้นเพราะยังเข้าไม่ถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอะนะวัชชะสุข คือสุขเกิดจากการไม่กระทำสิ่งที่มีโทษ ได้แก่ความปลอดโปร่งใจ วางใจได้สนิทว่าไม่มีความผิดที่จะต้องเดือดร้อนสะดุ้งระแวง มีความสงบเย็น ไม่ถูกทำร้ายแม้จากความรู้สึกของตัวเอง

        ระยะที่สอง ทำให้เกิดความมั่นใจ โดยเฉพาะความมั่นใจในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะคนที่ใกล้ตาย จะต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติครอบครัวและญาติมิตรที่เคยเป็นที่พึ่งไว้เบื้องหลัง ครั้นมองไปข้างหน้า ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปไหน เผชิญกับอะไร ตกอยู่ในสภาพอ้างว้างหวาดหวั่น เพราะไม่เห็นว่าสิ่งใดจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวพึ่งพิงได้ จึงมีแต่บุญหรือความดีเท่านั้น ที่จิตใจจะนึกหน่วงเอามาเป็นอารมณ์ ทำให้เกิดความภูมิใจและมีกำลังใจได้ บุญที่ทำไว้จึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายจริง ๆ

        การทำบุญไม่ว่าในศาสนาไหน ย่อมไม่ได้เป็นเพียงประเพณีเท่านั้น ทุกครั้งที่ทำ หมายถึงได้ปิดกั้นความชั่ว เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขใจและมั่นใจ ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นทันตาเห็น ไม่ใช่เรื่องควรรังเกียจหรือน่าเบื่อหน่ายแต่อย่างใด .... ธรรมะสอนใจ ตอน ผลบุญ

ธรรมะสอนใจ ตอน พินาศเพราะกิเลส

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน พินาศเพราะกิเลส
      มีเรื่องเล่าว่า ชายสองคนเป็นสหายกัน พากันไปบวงสรวงเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏว่าเทพเจ้าพอใจอนุญาตให้เขาทั้งสองขอสิ่งที่ปรารถนาได้โดยเสรี โดยบอกว่าใครขอก่อนขอเท่าใดก็จะได้เท่านั้น ส่วนคนที่ขอภายหลังจะได้สิ่งนั้นเหมือนกัน แต่ได้มากเป็นสองเท่า สหายทั้งสองต่างดูเชิงกันอยู่พักใหญ่ เพราะเกี่ยงกันว่า คนขอก่อนจะได้เพียงส่วนเดียว ส่วนคนขอทีหลังจะได้มากถึงสองส่วน ในที่สุดคนแรกก็ตัดสินใจขอพรจากเทพเจ้าก่อน แต่แทนที่จะขอทรัพย์สินเงินทอง กลับขอให้ดวงตาของตนบอดไปข้างหนึ่ง ด้วยหวังว่าเพื่อนที่ขอทีหลังจะได้ตาบอดทั้งสองข้าง ผลก็คือตาของตัวเองบอดไปข้างหนึ่งจริง ๆ ส่วนคนที่สองเข้าใจว่า คนแรกคงจะขอทรัพย์สินเงินทองเป็นแน่ และเทพเจ้าก็คงจะประทานความร่ำรวยให้ ในเมื่อตนขอภายหลังก็จะต้องร่ำรวยกว่าคนแรกถึงสองเท่าอย่างแน่นอน คิดดังนั้น เขาจึงได้ขอพรเช่นเดียวกับที่คนแรกขอไว้ ในที่สุดดวงตาของเขาก็บอดสนิททั้งสองข้าง

       เรื่องนี้ เมื่อมองในแง่หลักธรรมพบว่า คนแรกมีจิตริษยาคนอื่น ไม่เว้นแม้กระทั่งเพื่อนรักกัน จิตประเภทนี้จะคอยคิดในทางตัดรอนหรือทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น เห็นใครได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ ส่วนคนที่สองมีลักษณะละโมบจัด เห็นแก่ได้เป็นหลัก ไม่มีความคิดเรื่องการเสียสละอยู่ในใจ เมื่อคนทั้งสองมาคบกันผลสุดท้ายก็พินาศ ทั้งสองฝ่าย

       พระพุทธศาสนาสอนว่า จิตที่มีลักษณะริษยาและโลภจัดนั้น เป็นเหมือนสนิมที่คอยกัดกินจิตใจให้เสื่อมทราม ดุจสนิมที่กัดกินเหล็กให้ผุกร่อน คนมีปัญญาจึงหมั่นกำจัดสนิมดังกล่าวออกจากจิตใจตนเอง และวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ ก็คือ หัดชื่นชมยินดีในความสำเร็จของผู้อื่นและเสียสละประโยชน์ส่วนตนดูบ้าง หากทำได้ นอกจากจะป้องกันมิให้ความพินาศเกิดขึ้นได้แล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมให้จิตใจเยือกเย็นอิ่มเอิบ มีความสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย ... ธรรมะสอนใจ ตอน พินาศเพราะกิเลส
     
      อ่านนิทานธรรมะสอนใจ (นิทานธรรมะมาใหม่ทุกๆ วัน) ผู้ที่สนใจธรรมะไม่ควรพลาดนิทานธรรมะสั้น ๆ ธรรมะก่อนนอน เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี นิทานธรรมะให้คติสอนใจ สั้นๆ ให้ทั้งความสนุก สอดแทรกหลักธรรมแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สนใจนิทานธรรมะ ต้องที่ "นิทานธรรมะ" [ธรรมะสอนใจ]

ธรรมะสอนใจ ตอน เพียงผู้โดยสาร

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน เพียงผู้โดยสาร
      ผู้ที่เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง จำต้องจับจองตั๋วโดยสาร เมื่อได้รับแล้วมักเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของที่นั่งตามหมายเลขในตั๋ว หากมีใครมานั่งแทนที่ เราจะอ้างกรรมสิทธิ์ว่าที่นั่งตรงนั้นเป็นของเรา ขณะที่ใช้บริการอยู่ เมื่อยังไม่ถึงที่หมาย ก็เข้าใจว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอยู่ตราบนั้น แต่พอถึงที่หมายปลายทางก็จะลงจากพาหนะที่โดยสารนั้นไปโดยไม่มีความอาลัย ประหนึ่งรู้ว่ากรรมสิทธิ์ของเรามีเพียงเท่านี้เอง ปล่อยให้ที่นั่งเป็นของคนอื่นต่อไป
       หากจะเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดทั้งตำแหน่งหน้าที่ เป็นต้น ก็เปรียบเหมือนอุปกรณ์สำหรับโดยสาร ในฐานะที่เป็นเครื่องช่วยให้ดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเท็จจริงมักเกิดปัญหาขึ้น ๒ อย่าง คือ

       ๑. ละเลย คือ ไม่ใช้อุปกรณ์โดยสารนั้นให้เกิดประโยชน์ เช่นมีทรัพย์ก็ไม่ใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดสาระแก่ชีวิต มียศมีอำนาจก็ปล่อยให้โอกาสที่จะสร้างคุณประโยชน์หลุดลอยไป เป็นต้น

       ๒. ยึดติด ได้แก่ ลุ่มหลงหมกมุ่นจนเกินพอดี ครั้งเมื่อจะได้ บางครั้งก็ไม่คำนึงถึงถูกผิดและความเหมาะสม ส่วนครั้งเมื่อจะเสียก็กลัดกลุ้มฟูมฟายจนมีแต่ทุกข์ เต็มไปด้วยความหวงแหนยึดมั่นประหนึ่งว่า แม้ตายก็จะเอาติดตัวไปด้วยได้

       เมื่อจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม รถยนต์ที่โดยสารไป เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยในการไป ไม่ใช่เป้าหมายที่จะไป ในข้อเท็จจริง เมื่อต้องลงจากรถโดยสาร จึงไม่มีใครอาลัยอาวรณ์ หวงแหนยึดมั่นกับรถคันนั้นอีก ทรัพย์สมบัติและลาภยศก็เช่นกัน คือเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย จึงต้องวางท่าทีในลักษณะที่ว่า ใช้ให้เกิดประโยชน์เมื่อได้ และไม่ทุกข์ใจเมื่อเสีย

       ทำได้อย่างนี้ การเดินทางของเราจึงจะไม่เป็นทุกข์โดยที่ไม่ควรจะเป็น และจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความสะดวกปลอดโปร่งใจ .... ธรรมะสอนใจ ตอน เพียงผู้โดยสาร

ธรรมะสอนใจ ตอน เพื่อนแท้

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน เพื่อนแท้ ... ชายคนหนึ่ง ถูกตัดสินประหารชีวิต ก่อนตาย เขาขออนุญาตผู้ควบคุมไปล่ำลาเพื่อน แล้วรีบตรงไปหาเพื่อนคนแรกซึ่งรักมากที่สุด ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง แล้วถามว่าถ้าเขาต้องตายเพื่อนจะทำอย่างไร เขาได้รับคำตอบแบบคิดไม่ถึงว่า “ถ้าเธอตาย เราก็จบกันแค่นี้” พอไปหาเพื่อนคนที่สองซึ่งมีความสำคัญต่อเขามาก เพราะเคยทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เพื่อนคนนี้มา แต่พอเล่าเรื่องจบคำตอบที่ได้ก็คือ “ถ้าเธอตาย ฉันก็มีเพื่อนใหม่” เขาเดินคอตกไปหาเพื่อนคนที่สามที่เคยดูแลเอาใจใส่กันมาก่อน เล่าเรื่องให้ฟังแล้วถามเหมือนเดิม ได้รับคำตอบว่า “ถ้าเธอตาย ฉันจะไปส่ง” สุดท้ายเขาไปหาเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งตนเองไม่ค่อยสนใจใยดีนัก แต่พอเล่าเรื่องจบกลับได้รับคำตอบว่า “ถ้าเธอตาย ฉันจะตามไปด้วย” เขารู้สึกผิด และเสียดายอย่างยิ่งที่ตลอดชีวิตไม่เคยเห็นค่าของเพื่อนคนนี้เลย

  ในเรื่องนี้ ท่านผู้รู้ได้เปรียบเทียบไว้ดังนี้
   เพื่อนคนที่หนึ่งเปรียบ คือ ร่างกายของเราเอง เพราะตอนที่มีชีวิตอยู่ เราจะบำรุงบำเรอมันทุกอย่าง อยากได้อะไรเป็นต้องหาให้ แต่พอถึงเวลาตาย เรากับร่างกายก็จบกันแค่นี้
   เพื่อนคนที่สองท่านเปรียบเหมือน ทรัพย์สมบัติ เพราะทั้งชีวิตเราจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แต่พอตายลง สมบัติเหล่านั้นกลับไปอยู่กับคนอื่นแทน
   เพื่อนคนที่สามก็คือ ญาติพี่น้อง เพราะเหตุที่เคยอุปการะเลี้ยงดูกันมา พอเราตายลง เขาจะทำหน้าที่จัดการศพให้ ทำบุญอุทิศไปให้ เหมือนไปส่งเราได้ในระยะหนึ่ง
   ส่วนเพื่อนคนที่สี่ซึ่งในขณะมีชีวิตเรามักไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก แต่เมื่อสิ้นลมกลับติดตามเราไปตลอดเพื่อนคนนี้ก็คือ บุญกับบาป 
   ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือญาติพี่น้อง ทุกอย่างสำคัญหมดก็จริง แต่อย่าลืมให้ความสำคัญกับเรื่องบุญเรื่องบาปด้วย เพราะเป็นเพื่อนที่ต้องติดตามไปถึงภพหน้า และควรให้ความสำคัญตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะถ้าถึงวันนั้น ต่อให้นึกได้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ... ธรรมะสอนใจ ตอน เพื่อนแท้

ธรรมะสอนใจ ตอน พันท้ายนรสิงห์

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน พันท้ายนรสิงห์
       บรรพบุรุษไทยผู้มีชื่อเสียงที่คนไทยรู้จักกันดีและเทิดทูนนั้นมีมากหลาย แต่ละท่านก็ดีไปคนละด้าน แต่สำหรับผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ยอมสละแม้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อรักษาหน้าที่และกฎระเบียบไว้ คงไม่มีใครเกินพันท้ายนรสิงห์

      ประวัติกล่าวว่า คราวหนึ่ง พันท้ายนรสิงห์ทำหน้าที่ถือท้ายเรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าเสือเพื่อเสด็จประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ครั้นเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขาม คลองที่นั่นคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์คัดท้ายเรือไม่ทัน โขนเรือจึงไปชนกิ่งไม้ใหญ่เข้าเต็มแรงจนหักตกลงน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงกระโดดขึ้นฝั่ง และกราบทูลขอพระราชทานอาญาเพื่อให้ตัดศีรษะตนเองตามกฎมณเฑียรบาล แม้สมเด็จพระเจ้าเสือจะพระราชทานอภัยโทษให้ถึงสองครั้ง พันท้ายนรสิงห์ก็ไม่ยอม ทูลขอให้ลงพระอาญาถึงครั้งที่สาม ในที่สุด พระองค์จำต้องให้ตัดศีรษะด้วยความอาลัยเป็นอย่างยิ่ง แล้วโปรดให้สร้างศาลขึ้น ดังปรากฏอยู่ที่บ้านพันท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ในปัจจุบัน

      เรื่องนี้ชวนให้คิดว่า ทำไมคนบางคนเมื่อทำผิดก็ยังยืนยันจะรับโทษถึงตายทั้งที่มีโอกาสจะพ้นผิดได้ ยิ่งเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องจริง มีตัวตนอยู่จริง ๆ ไม่ใช่นิยาย หรือเป็นแค่อุดมคติเลื่อนลอย ก็ยิ่งทำให้น่าคิด ถ้าฟังแล้วพยายามอ่านเข้าไปในความคิดของเขา บางทีก็จะช่วยให้ได้แง่คิดดี ๆ และเหตุผลที่กว้างขวางออกไป ไม่จมอยู่แค่ความคิดและความต้องการของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้ เพราะเรื่องดี ๆ ทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากความคิดที่ดี ๆ นี่แหละ ... ธรรมะสอนใจ ตอน พันท้ายนรสิงห์

ธรรมะสอนใจ ตอน พระคุณพ่อ

ธรรมะสอนใจ 9
ธรรมะสอนใจ ตอน พระคุณพ่อ
   คำว่า “พ่อ” หมายถึงชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูก มีความสำคัญสำหรับชีวิตของผู้เป็นลูกทุกคน แต่บางครั้งการได้ยินคำนี้จนชินหู หรืออยู่ร่วมกันจนคุ้นเคยก็ทำให้รู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา ความสำคัญของพ่อนั้นนอกจากให้กำเนิดชีวิตแก่เราแล้ว ท่านยังทำหน้าที่สำคัญอีก ๕ ประการ คือ 
๑. ห้ามลูกไม่ให้กระทำความชั่ว 
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี 
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา 
๔. จัดการเรื่องคู่ครองที่เหมาะสมให้ 
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันควร 
        ในทางพระพุทธศาสนา ได้เปรียบพ่อว่า เป็นประดุจพระพรหม เพราะมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อลูก เป็นประดุจบุรพเทพ เพราะคอยระวังป้องกันภัยต่าง ๆ ให้ลูกก่อนเทพเหล่าอื่น เป็นประดุจบุรพาจารย์ เพราะได้สอนลูกก่อนอาจารย์อื่น ๆ และเป็นประดุจอาหุเนยยบุคคล เพราะเป็นผู้ที่เหมาะสมแก่การรับสิ่งของ เช่น ข้าว น้ำ เป็นต้นของลูก จึงได้ชื่อว่าบุพการีชน คือผู้ที่ทำอุปการะมาก่อนแก่ลูก เมื่อลูก ๆ รำลึกรู้ถึงพระคุณของพ่อ เรียกว่า กตัญญูแล้ว ต้องตอบแทนพระคุณท่าน เรียกว่า กตเวทีด้วยการปฏิบัติหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ท่านเลี้ยงมาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์ตระกูลของท่านไว้ให้ดี
๔. ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับที่เป็นทายาทของท่าน และ
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศให้

       อนึ่งในโอกาสที่วันพ่อของชาติ คือวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพ่อของชาติ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง ประสงค์ให้พสกนิกรทั้งปวงมีความร่มเย็นเป็นสุข สมควรที่พวกเราเหล่าพสกนิกรจะถวายความจงรักภักดีด้วยการปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในพระบรมราโชวาทต่าง ๆ เช่น ในความ “รู้รักสามัคคี” เป็นต้น
       หากเราทั้งหลายกระทำได้เช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่ามีความตระหนักและซาบซึ้งในพระคุณพ่อและได้ชื่อว่าได้ตอบแทนทั้งพระคุณพ่อของตนและพระคุณพ่อของชาติด้วย ... ธรรมะสอนใจ ตอน พระคุณพ่อ

ธรรมะสอนใจ ตอน ปล่อยวางเสียบ้าง

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน ปล่อยวางเสียบ้าง
มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์หนึ่ง ได้รับแจกันลายครามอายุหลายร้อยปีและมีราคาแพงมากจากผู้ศรัทธา เวลาศิษย์วัดทำความสะอาดพระตำหนัก พระองค์จะคอยกวดขันให้ระมัดระวังแจกันใบนั้นเป็นพิเศษ จนวันหนึ่งก็ได้เรื่องขึ้นมาจริง ๆ ขณะที่ศิษย์ทำความสะอาดอยู่นั้นได้เผลอทำแจกันตกแตกเสียงดังสนั่น พระองค์ประทับอยู่ตรงนั้นพอดี แต่แทนที่จะโกรธหรือเสียใจกลับรับสั่งออกมาว่า “เออ หมดภาระไปเสียที”

        มีคำที่พระพุทธเจ้าสอนบทหนึ่งว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” การสอนเช่นนั้น บางท่านเข้าใจไปว่า ทำให้ขาดความกระตือรือร้น ตัดขาดการเสพสุขในเรื่องต่าง ๆ และเลยไปถึงขั้นทำให้ขาดความรับผิดชอบในภารกิจหน้าที่ เป็นต้น คือมองเห็นว่าการปล่อยวางกับการปล่อยทิ้งเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงการไม่ยึดมั่นในที่นี้เป็นเรื่องที่เกิดเพราะรู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายว่ามีการเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย และแตกดับไปตามเหตุปัจจัย เมื่อต้องการสิ่งใดก็ทำแค่สร้างเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นให้ถูกต้องดีงามที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นความรับผิดชอบที่ตรงจุดมากกว่าวิธีอื่นด้วยซ้ำ ส่วนการใช้ความยึดมั่นถือมั่นเพื่อสร้างความรับผิดชอบนั้น แม้จะได้ผล แต่ก็เต็มไปด้วยความบีบคั้น โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้ตามที่หวังหรือเมื่อได้แล้วต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดทุกข์ ท่านจึงสอนว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ความหมายก็คือไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส แต่ให้กระทำด้วยกุศลฉันทะคือความรักดีใฝ่ดีเป็นที่ตั้ง ตามหลักที่ว่า “ตัณหาเป็นสิ่งที่ต้องละ ฉันทะเป็นสิ่งที่ต้องเจริญ”

       ตามเรื่องข้างต้นแสดงว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น มิได้ยึดมั่นถือมั่นแจกันลายครามด้วยกิเลสตัณหา จะมีก็แต่ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลแจกันนั้นให้ดีที่สุดซึ่งเป็นกุศลฉันทะเท่านั้น ดังนั้น เมื่อแจกันราคาแพงมีอันเป็นไปจึงมิได้เสียดายหรือยึดติด แต่กลับทรงอุทานออกมาว่า “เออ หมดภาระไปเสียที” ... ธรรมะสอนใจ ตอน ปล่อยวางเสียบ้าง

ธรรมะสอนใจ (3 เรื่อง)

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ นำเสนอเรื่องราวธรรมะสอนใจสั้นๆ ธรรมะในชีวิตประจำวัน อ่านเพื่อเป็นข้อคิด อ้างอิงกับหลักธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โรคบางอย่างรักษาด้วยการใช้ยา และสำหรับโรคที่เกี่ยวกับใจ หรือ กำลังใจ ส่วนใหญ่แล้ว ยาที่รักษาโรคนี้ได้ดีที่สุด ก็คือ ธรรมะ ในบทความนี้ นำมาให้อ่านกันแบบ 3 เรื่อง 3 แนว อ่านเพื่อความบันเทิง อ่านเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพิ่มกำลังใจก็ได้  ถูกใจหรือไม่ถูกใจอย่างไรต้องขออภัย กับ ธรรมะสอนใจ...

"ธรรมะสอนใจ
ตอน คนละเรื่องเดียวกัน
   สังคมสมัยก่อนในตอนเช้า เรามักจะเห็นภาพคุณลุงคุณป้า ชอบไปนั่งจิบกาแฟกับปาท่องโก๋ แถวๆ ร้านกาแฟหน้าปากซอยอยู่เสมอ เราเรียกชุมนุมย่อยๆ นี้ว่า "สภากาแฟ" กาแฟโบราณนั้น มีเอกลักษณ์อยู่อย่างหนึ่งคือ จะใส่นมข้นหวานไว้ด้านล่าง แล้วเทน้ำกาแฟลงไปด้านบน ถ้าใครชอบหวานมากก็ชงนมด้านล่างให้ผสมกับเนื้อกาแฟ สำหรับคนที่ชอบหวานน้อยก็อาจดื่มโดยไม่ต้องคนเลย เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้มีอยู่ว่า วันหนึ่ง คุณลุงคนหนึ่งก็ไปนั่งจิบกาแฟที่สภากาแฟ พอดีหลานสาวเจ้าของร้านอยู่ในช่วงปิดเทอม จึงมาช่วยยายขายกาแฟ พอหลานยกกาแฟมาส่งที่โต๊ะ คุณลุงก็พูดขึ้นว่า "นมน้อยจัง" หลานสาวเกิดอาการเขินอาย" ตอบกลับไปด้วยเสียงเบาๆ ว่า "เพิ่งขึ้นค่ะ" ยายได้ยินดังนั้นก็ทุบโต๊ะดังปัง แล้วตะโกนสวนไปว่า "เพิ่งขึ้นที่ไหนกัน ขึ้นมาตั้งสองเดือนแล้ว"
   สรุปว่า ลุงพูดถึงนมในแก้วกาแฟ หลานสาวพูดถึงหน้าอกของตัวเอง ส่วนยายหมายถึงราคานมที่ปรับราคาขึ้น เรื่องนี้แม้จะเป็นเพียงเรื่องตลกขบขัน ที่เล่าต่อๆ กันมา แต่ในความตลกขบขันนั้น ถ้าพิจารณาให้ดี ก็จะได้แง่คิดทางธรรมว่า คนเราอาจพูดกันคนละเรื่องทั้งๆ ที่คิดว่ากำลังพูดเรื่องเดียวกันเข้าทำนองว่า คนละมุมมอง คนละข้อคิดเห็น คนละประเด็นข้อสังเกตุ แต่เรื่องเดียวกัน ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอาจเกิดจากสภาวะจิตที่ถูกปรุงแต่งขณะนั้น เช่น คนหนึ่งกำลังพิจารณากาแฟในแก้ว อีกคนหนึ่งกำลังกังวลเรื่องความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตนเอง และอีกคนหนึ่งกำลังกังวลเรื่องกำไรขาดทุน
   ดังนั้น ความเข้าใจผิดจึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้แม้จะกำลังพูดภาษาเดียวกัน นั่งพูดกันตัวต่อตัว และ ไม่มีใครมีเจตนาบิดเบือนข้อมูล เรื่องดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ง่ายเพียงใด และหากเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องที่สำคัญ ความเสียหายก็จะมีมากตามไปด้วย การสื่อสารในองค์กรก็เช่นเดียวกัน หากขาดความระมัดระวัง ไม่ใช้สติกำกับในเรื่องที่คิด ในกิจที่กำลังทำ และในคำที่กำลังจะพูด เราก็จะประสบกับเรื่องราวในลักษณะ "คนละเรื่องเดียวกัน" อย่างแน่นอน ... ธรรมะสอนใจ ตอน คนละเรื่องเดียวกัน

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ธรรมะเรื่องล่าสุด

Recent Posts Widget