ครั้งพุทธกาลมีโจร ๒ คน นัดแนะกันไปลักทรัพย์ของชาวบ้านที่ไปทำบุญในวัด เมื่อไปถึง โจรคนหนึ่ง ระหว่างที่รอจังหวะลงมือนั้นก็นั่งฟังเทศน์ไปด้วย ทำให้เกิดความสำนึกในบาปบุญคุณโทษ เปลี่ยนใจไม่ทำชั่วอีกต่อไป ส่วนอีกคนหนึ่งไม่สนใจอะไรทั้งนั้น พอได้จังหวะที่คนอื่นเผลอก็ล้วงกระเป๋าเอาทรัพย์ไปได้ เมื่อกลับไปถึงที่พักก็พูดถากถางโจรที่กลับใจว่า “ที่ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือมาก็เพราะโง่เกินไป” โจรกลับใจคิดว่า “เพื่อนคนนี้ สำคัญว่าตนเป็นคนฉลาด เพราะความเขลาโดยแท้” วันต่อมา เขาได้มีโอกาสทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า “บุคคลใดโง่ แล้วรู้สึกว่าตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นแหละ เป็นคนฉลาดเพราะความรู้ชนิดนั้น ส่วนบุคคลใดโง่ แต่สำคัญตนว่าฉลาด บุคคลนั้น เป็นคนโง่จริง ๆ”โดยปกติ ไม่มีใครที่จะรู้ทุกเรื่อง ถ้าไม่รู้แล้วรู้ตัวว่าไม่รู้ ความไม่รู้นั้น ก็ไม่ถึงกับเสียประโยชน์เสียทีเดียว เพราะยังเป็นช่องทางที่จะให้เกิดความรู้จริง ๆ ขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่รู้แล้วคิดว่ารู้ ความรู้จริง ๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความสามารถและความประพฤติก็พลอยด้อยไปด้วย รู้ว่าไม่รู้ จึงเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนฉลาดทั้งหลาย
ต้องการอ่านธรรมะก่อนนอนเรื่องอื่นๆ เชิญที่ "ธรรมะก่อนนอน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น