แนะนำ! บทความธรรมะอ่านมากที่สุดตอนนี้

"ธรรมะกับชีวิต" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน ถ้วยกาแฟ

"ธรรมะกับชีวิต" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
"ธรรมะกับชีวิต" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน ถ้วยกาแฟ ... ในงานเกษียณอายุของอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง บรรดาศิษย์เก่าที่จบการศึกษาได้ถือโอกาสกลับมาพบปะชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก หลังจากการสังสรรค์ผ่านไปพักใหญ่ เมื่อวงสนทนาเปลี่ยนมาเป็นเรื่องการครองชีพ ความเครียดก็เกิดขึ้น บางคนบ่นน้อยใจในโชควาสนา บางคนก็พูดถึงภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกวัน บางคนโหมงานหนักจนสุขภาพย่ำแย่ บางคนก็อับอายเรื่องฐานะไม่กล้าพูดคุยกับเพื่อนฝูง ฝ่ายอาจารย์ใหญ่ได้แต่ยืนฟังอย่างสงบ ครั้นถึงเวลาเลี้ยงกาแฟ ท่านเดินเข้าไปในห้องครัว แล้วออกมาพร้อมกับกาแฟเหยือกโตและถ้วยกาแฟหลายใบ มีทั้งแบบพื้น ๆ ธรรมดาราคาถูก และที่สวยงามราคาแพง แล้วบอกให้ลูกศิษย์เลือกถ้วยกาแฟจัดการรินกาแฟดื่มกันตามใจชอบ

       ทุกคนต่างพากันเลือกถ้วยกาแฟที่สวย ๆ ราคาแพง ไม่มีใครอยากได้แบบที่เป็นธรรมดาราคาถูกสักคนเดียว เมื่อลูกศิษย์ต่างมีถ้วยกาแฟอยู่ในมือครบแล้ว อาจารย์ใหญ่จึงพูดขึ้นว่า "คนเรามักจะเลือกสิ่งที่เห็นว่าดีที่สุด โดยลืมคิดถึงความต้องการที่แท้จริง และนี่คือที่มาของความเครียดและปัญหาทั้งหลายในชีวิต ความจริงขณะนี้สิ่งที่พวกเธอต้องการแท้จริงคือกาแฟ ไม่ใช่ถ้วยกาแฟ แต่จิตสำนึกกลับทำให้พวกเธอยึดติดกับถ้วย ชีวิตก็เช่นกัน หากตระหนักในความต้องการแท้จริงของชีวิต ไม่หลงติดแค่ส่วนประกอบก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะส่วนประกอบแม้จะขาดหายไปบ้าง ก็ไม่ทำให้เนื้อหาจริง ๆ ของชีวิตเปลี่ยนไป"


       เรื่องข้างต้นนี้เป็นอุทาหรณ์ในประเด็นของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี คือถ้าเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียงจะเป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของชีวิตว่าต้องการอะไร เมื่อได้มาตามนั้นก็สร้างความรู้สึกว่าพอเพียงแล้ว พอเหมาะพอสมแล้ว ชีวิตก็เป็นสุข เหมือนเมื่อความต้องการที่แท้จริงอยู่ที่การดื่มกาแฟ เมื่อได้ถ้วยกาแฟที่พอเหมาะพอสม ก็พอเพียงแล้วสำหรับการดื่มกาแฟให้มีความสุข ไม่ต้องไปดิ้นรนให้เดือดร้อนวุ่นวายไปอีกเปล่า ๆ


ธรรมะกับความรัก ตอน ศัตรูชีวิต

ธรรมะคู่ชีวิต
ธรรมะกับความรัก ตอน ศัตรูชีวิต
      คำว่า ศัตรู หมายถึงข้าศึก ปรปักษ์ ผู้จองเวร มีบทบาทในการทำลายล้าง รบกวนความสงบสุขของ ผู้อื่น เมื่อใครมีศัตรู ชีวิตจะประสบความเดือดร้อน อยู่ไม่เป็นสุข การมีศัตรูแม้เพียงคนเดียวก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสามารถเบียดเบียนทำลายล้างจนชีวิตต้องหายนะได้ อุปมาเหมือนกับไฟ แม้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำลายได้กว้างไกล ศัตรูนั้นมี ๒ ประเภท คือ

        ๑. ศัตรูภายนอก ได้แก่ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนซึ่งอยู่นอกตัวเราทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นศัตรูที่มาในรูปของศัตรู สามารถมองเห็นด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู มีตัวตนสัมผัสได้ จึงสามารถหาทางหลบหลีก หรือวางแผนต่อสู้ป้องกัน ทำให้ชีวิตปลอดภัย หรืออย่างน้อยก็ได้รับความเดือดร้อนน้อยลง

         ๒. ศัตรูภายใน ได้แก่กิเลสที่อยู่ในใจที่คอยชักนำให้กระทำความชั่วต่างๆ กล่าวโดยประเภทมี ๓ คือ โลภะ ได้แก่ความละโมบอยากได้ในทางทุจริต โทสะ ได้แก่ความคิดประทุษร้ายอาฆาตแค้นผู้อื่น และ โมหะ ได้แก่ความหลงไม่รู้จริง เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ศัตรูชนิดนี้เป็นศัตรูของชีวิตที่มาในรูปของมิตร น่ากลัวยิ่งกว่าศัตรูใดๆ เพราะจะหลอกล่อให้ผู้นั้นสมัครใจที่จะทำลายตัวเองจนย่อยยับ

        คนที่เอาชนะศัตรูภายนอก แม้จะชื่อว่าเป็นคนเก่ง เป็นวีรบุรุษ แต่ทางธรรม ยังไม่ถือว่าเป็นยอดนักรบ เพราะเป็นชัยชนะที่อาจกลับแพ้ได้ ชนะแล้วก็ยังเป็นทุกข์ ส่วนผู้ที่เอาชนะศัตรูภายใน ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูชีวิตได้ คือไม่ถูกโลภะ โทสะ โมหะครอบงำย่ำยีนั่นแหละ จึงเป็นยอดนักรบที่แท้จริง เพราะจะไม่มีโอกาสกลับแพ้ได้เลย เป็นชัยชนะที่กำจัดเวรภัยได้ราบคาบ พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญไว้ว่า "อัตตา หะเว ชิตัง เสยโย - ชนะตนนั่นแลประเสริฐที่สุด"

ธรรมะกับชีวิต ตอน เรื่องของเวลา

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง เรื่องของเวลา
ธรรมะกับชีวิต ตอน เรื่องของเวลา ... ธรรมะกับชีวิตประจำวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ นำเสนอในตอน เรื่องของเวลา ... มีบางคนกล่าวว่า "ในโลกนี้ ไม่มีความยุติธรรมเลย มีแต่อิทธิพล ของเส้นสายและทรัพย์สินเท่านั้น" ซึ่งก็อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ความจริงยังมีสิ่งหนึ่ง ซึ่งให้ความยุติธรรมแก่ทุกคน สิ่งนั้นก็คือ "วันและเวลา" นั่นเอง เพราะวันหนึ่งของแต่ละคนก็มี ๒๔ ชั่วโมง เดือนหนึ่งก็มีคนละ ๓๐ วัน และปีหนึ่งก็มีคนละ ๓๖๕ วันเท่านั้น จึงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเลย      
     บุคคลผู้มองไม่เห็นคุณค่าของเวลา มักใช้ชีวิตด้วยความประมาท เกียจคร้านการงาน ปล่อยให้ชีวิต สิ้นเปลืองไป กับการเล่น การกิน การเที่ยวมัวเมาเพลิดเพลิน กับความสนุกสนานไปวันๆ  ซึ่งท่านเรียกบุคคล ประเภทนี้ว่า   "ผู้ตกเป็นเหยื่อของกาลเวลา" ในไม่ช้าก็จะเดือดร้อน และเสียใจในภายหลัง เพราะวันเวลา เมื่อล่วงเลยไปแล้ว ไม่อาจหมุนกลับมาอีก ดังคำกลอนสอนใจที่ว่า "เวลาและวารีมิได้ยินดีจะคอยใคร เรือเมล์ และรถไฟ มันก็ไปตามเวลา" ส่วนผู้ไม่ประมาท ย่อมมองเห็นคุณค่าของเวลา คือเห็นเวลาทุกนาที เป็นเงินเป็นทอง มีความขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอยง่าย รู้จักใช้เวลาแต่ละวินาทีให้คุ้มค่า คือให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวม ซึ่งท่านเรียกว่า "ผู้ไม่ยอมให้เวลากลืนกินตน" ย่อมจะมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ ในบั้นปลายอย่างแน่นอน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ผู้ที่เห็นคุณค่า ของเวลา มีความเพียร ไม่ท้อถอย แม้จะมีอายุเพียงวันเดียว ก็ยังดีกว่า คนมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี แต่มีความเกียจคร้านเป็นอุปนิสัย"


     ความจริงปรากฏว่า การที่เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงบำเพ็ญเพียร จนได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด ก็เพราะทรงเห็นคุณค่าของกาลเวลานั่นเอง หรือแม้แต่การที่สามัญชน คนธรรมดา ได้พยายามศึกษาเล่าเรียน จนจบการศึกษา ทำงาน และมีความก้าวหน้าในชีวิตการงาน โดยลำดับ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าขององค์กร ของประเทศชาติ ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุ คือการมองเห็นคุณค่าของกาลเวลาทั้งสิ้น
     ดังนั้น ผู้หวังความเจริญก้าวหน้าและเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม จึงควรพยายามสร้างตัว ด้วยจิตสำนึก เรื่องกาลเวลาเสียแต่บัดนี้


ธรรมะก่อนนอน เรื่อง กากับนกเค้า

ธรรมะก่อนนอน ตอน กากับนกเค้า

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง กากับนกเค้า &*& มีเรื่องเล่าในชาดกว่า ครั้งหนึ่งพวกนกมาประชุมกันเพื่อคัดเลือกหัวหน้า ฝูงนกเสนอให้นกเค้าขึ้นเป็นหัวหน้า แต่มีกาตัวหนึ่งค้านว่า นกเค้าไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำเพราะมีหน้าตาน่ากลัว ทำให้นกเค้าโกรธจัดที่ถูกกาว่าร้ายเช่นนั้น จึงบินไล่จิกกาออกไปนอกที่ประชุม สุดท้ายพวกนกจึงได้เลือกหงส์ทองขึ้นเป็นหัวหน้า ส่วนกากับนกเค้าก็กลายเป็นศัตรูต่อกันข้ามภพข้ามชาติมาจนถึงปัจจุบัน

        ความพยาบาทจองเวรกันนั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับสัตว์หรือคนก็ตาม ล้วนแต่เป็นไปเพื่อหายนะทั้งสิ้น อุบายวิธีที่จะระงับยับยั้งเวรนั้นนับว่าสำคัญยิ่ง ทางศาสนาท่านสอนวิธีการหยุดการจองเวร โดยการให้อภัย ให้อโหสิกรรมต่อกัน วิธีอื่นนอกจากนี้ถึงจะมี แต่ก็ให้ผลได้ไม่เด็ดขาดเท่ากับ การให้อภัยหรือให้อโหสิกรรมต่อกัน ในทางปฏิบัติ การให้อภัย หรือให้อโหสิกรรม ก็นับว่าทำได้ยากพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เพราะมีโทสะมานะทิฐิในใจของแต่ละคนมาขวางกั้นไว้ และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะขาดความอดทนอดกลั้น ขาดความรักความบริสุทธิ์ใจต่อกัน จึงทำให้เวรนั้นยังคงดำเนินต่อไป ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของคนหมู่มากมีเวรต่อกันด้วยแล้ว ความยากลำบากในการปฏิบัติ รวมถึงความเดือดร้อนแก่ตนเอง และผู้ไม่เกี่ยวข้องก็มากเท่าทวีคูณตามไปด้วย การระงับเวรด้วยการไม่จองเวรแต่เพียงข้อเดียวอาจไม่ได้ผลในกรณีของคนหมู่มาก จึงจำต้องใช้อุบายวิธีอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การหันหน้าเข้าหากัน เลือกมองแต่แง่ดีของกันและกัน เป็นต้น เวรนั้นจึงจะมีโอกาสสงบระงับได้


       กากับนกเค้าที่ทะเลาะกันอยู่ จนถึงปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะทะเลาะเพราะเหตุที่เลือกหัวหน้า หรือเหตุอื่นใดก็ตาม ถึงแม้จะยังเป็นศัตรูต่อกันอยู่ก็สร้างความเสียหายเพียงแคบ ๆ แต่ถ้ามนุษย์ทะเลาะกัน จองเวรต่อกันแล้ว หายนะที่จะเกิดขึ้นย่อมจะรุนแรงกว่าสัตว์ สุดที่จะประมาณได้ ดังนั้นทางหนึ่งที่จะป้องกันหายนะทั้งหลายได้ ก็คือการให้อภัย ให้อโหสิกรรม ไม่จองเวรต่อกันนั่นเอง



นิทานคุณธรรม เรื่อง พระเลี้ยงลิง

นิทานคุณธรรม ตอน พระเลี้ยงลิง

นิทานคุณธรรม เรื่อง พระเลี้ยงลิง *!* มีเรื่องเล่าว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคที่บ้านเมืองมีความสงบสุขมาก ความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมืองส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีระเบียบวินัย ข้อบังคับใดที่ทรงวางไว้ใครจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ และเพราะเหตุที่บ้านเมืองมากไปด้วยระเบียบวินัยนี้เอง ทำให้ประชาชนบางพวกไม่พอใจ จึงขอให้พระเถระรูปหนึ่งไปเข้าเฝ้าเพื่อขอให้ทรงลดหย่อนเรื่องระเบียบวินัยลงเสียบ้าง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับสั่งว่าจะขอผัดผ่อนไปก่อนสัก ๗ วัน แล้วจึงจะให้คำตอบ และก่อนที่พระเถระจะกลับ ทรงถวายลิงตัวหนึ่งแก่พระเถระโดยขอร้องว่าอย่าล่ามโซ่ เมื่อพระเถระนำลิงมาเลี้ยงที่วัดโดยไม่ล่ามโซ่ก็สร้างความโกลาหลวุ่นวายขึ้นตามประสาลิงจนพระเถระทนไม่ไหว สามวันต่อมาจึงนำลิงไปส่งคืน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงตรัสว่า “พระคุณเจ้าเอาลิงตัวเดียวไปเลี้ยงโดยไม่ล่ามโซ่ มันยังทำความเดือดร้อนถึงเพียงนี้ แต่โยมเลี้ยงคนทั้งประเทศ ถ้าโยมปกครองคนทั้งประเทศโดยไม่ใช้กฎหมายและระเบียบวินัยแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร” เมื่อได้ฟังดังนั้น พระเถระก็ยอมรับความจริงว่า การปกครองคนหมู่มาก จำเป็นต้องมีกฎหมายและระเบียบวินัย มิฉะนั้นบ้านเมืองจะวุ่นวายเหมือนการเลี้ยงลิงโดยไม่ล่ามโซ่นั่นเอง

        เรื่องนี้สอนให้เห็นชัดว่าความมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการอยู่ร่วมกัน เพราะระเบียบวินัยเป็นเครื่องฝึกให้คนรู้จักระวังตัว รู้จักควบคุมตัวเอง และรู้จักเชื่อฟัง ไม่ก่อปัญหาแก่คนอื่น คนมีระเบียบวินัยจึงเป็นคนที่มีคุณสมบัติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ใช่แต่เท่านั้น ระเบียบวินัยยังเป็นเครื่องหนุนให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องสุจริต และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย ทางพระจึงสอนว่า วินัยที่ศึกษาและปฏิบัติดีแล้วเป็นมงคลยิ่งของชีวิต


ธรรมะกับชีวิต เรื่อง ธรรมะพาสร้างเงินเหลือเก็บ

ธรรมะกับชีวิต ตอน ธรรมะพารวย

@@@ธรรมะกับชีวิต เรื่อง ธรรมะพาสร้างเงินเหลือเก็บ ...  ท่านทั้งหลายเคยได้ยินประโยคนี้หรือไม่ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” คำขวัญดังกล่าวนี้ แสดงให้ทราบชัดว่า เงินมีความสำคัญในชีวิตของคนเรา ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเงินก็คือ มีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุทำให้มักจะไม่มีรายเหลือ วิธีแก้ปัญหานี้ มีท่านผู้รู้เสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจไว้ ๗ วิธี คือ
       ๑. ให้ตัดส่วนเกิน หมายความว่า ให้ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตออก เช่น เครื่องดองของเมา เป็นต้น ถ้าตัดส่วนเกินออกไปได้ ก็จะทำให้มีเงินเหลือจากส่วนนี้อย่างแน่นอน
       ๒. อย่าเพลินใช้จ่าย เมื่อมีรายได้ เช่น ได้รับเบี้ยเลี้ยง หรือเงินเดือนมา อย่ารีบใช้จ่ายด้วยความอยาก แต่ให้ถามตนเองก่อนว่า จำเป็นหรือไม่ การไม่รีบซื้อหรือดึงเวลาไว้ระยะหนึ่ง ภายหลังความอยากจะค่อย ๆ ลดลงเอง
       ๓. ให้ยินดีในสิ่งที่ตนได้ พอใจในสิ่งที่ตนมี สิ่งของอะไรที่ตนมีอยู่ ถ้ายังมีสภาพพอใช้ได้อยู่ ก็ให้ใช้สิ่งนั้นไปก่อน อย่าอับอายเพราะเห็นว่าเป็นของเก่าหรือตกรุ่น
       ๔. ให้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน ให้ทำรายการรับและรายจ่ายแต่ละเดือนให้เป็นระบบ เพื่อคอยเตือนสติว่ายังมีเหลืออยู่เท่าไหร่ จะได้ไม่เผลอตัว
        ๕. อย่าลืมคำเตือนของพระ ที่เตือนว่า ความยากจนเป็นทุกข์ในโลก การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก
       ๖. ทุกขณะให้มีเงินติดกระเป๋าไม่มาก ในแต่ละวันให้มีเงินติดตัวเท่าที่จำเป็น บวกกับเงินสำรองที่จำเป็นต้องใช้ถ้ามีปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้า การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการฝึกวินัยในการใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
       ๗. ให้เหลือฝากทุกเดือน หมายความว่า ในแต่ละเดือนให้มีเงินเหลือเก็บหรือมีรายเหลือ ซึ่งการที่จะมีรายเหลือนั้น เพียงเราปฏิบัติตามคำแนะนำทั้ง ๖ ข้อข้างต้นอย่างจริงจัง ก็เห็นผลได้แล้ว
      อันว่า เงินนั้น วิธีที่จะได้มานั้นแสนลำบาก แต่กลับใช้ไปอย่างง่ายดาย ถ้ามีวิธีข้างต้นเป็นบัญญัติ ๗ ประการ คอยกำกับจิตใจ คอยเตือนสติเอาไว้ คิดว่าอย่างน้อยก็คงจะทำให้เราๆ ท่าน มีพอกิน พอใช้ และมีเหลือเก็บบ้าง ไม่มากก็น้อย ... ธรรมะกับชีวิต เรื่อง ธรรมะพาสร้างเงินเหลือเก็บ

#ธรรมะก่อนนอน! เรื่อง วิธีมองคน

ธรรมะก่อนนอน ตอน วิธีมองคน
     $ธรรมะก่อนนอน ประจำวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง วิธีมองคน >>> ถ้าพิจารณาตำรายาแผนโบราณของไทย จะเห็นได้ว่าต้นไม้ทุกชนิด หากนำมาศึกษาวิจัยอย่างดีแล้ว จะมีสรรพคุณนำมาเป็นตัวยาได้ โดยแต่ละชนิดต่างก็มีสรรพคุณแตกต่างกันไป กล่าวคือ บางต้นสรรพคุณอยู่ที่เปลือก บางต้นสรรพคุณอยู่ที่ใบ บางต้นสรรพคุณอยู่ที่แก่น บางต้นสรรพคุณอยู่ที่ราก บางต้นสรรพคุณอยู่ที่เมล็ด บางต้นมีสรรพคุณทั้งห้า คือทุกส่วนของต้นไม้นั้นล้วนมีสรรพคุณเป็นยาทั้งสิ้น เป็นต้น เมื่อนำจุดดีของไม้แต่ละชนิดมาปรุงรวมกันเข้า ก็จะได้ยาที่มีสรรพคุณรักษาโรคร้ายต่างๆ ให้หายได้ แต่การค้นหาจุดดีที่เป็นตัวยาทุกส่วนในต้นเดียวกัน นั้น ย่อมเป็นการยาก
     คนเราก็เช่นกัน เมื่อพิจารณาโดยรอบคอบ จะเห็นว่าแต่ละคน ล้วนมีดีอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น เพียงแต่จุดดีของเขา แตกต่างกันไป กล่าวคือ บางคนมีการศึกษาดี บางคนพูดดี บางคนทำงานดี บางคนมีความซื่อสัตย์ หรือบางคน มีความกล้าหาญ เป็นต้น แต่การที่จะหา ความดีทุกอย่าง จากคนๆ เดียว ย่อมเป็นเรื่องยาก การตระหนักถึงข้อเท็จจริงได้ เช่นนี้ จะช่วยทำให้การดำเนินชีวิตในสังคม เป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะจะทำให้ เกิดผลดี ๓ ประการคือ
     ๑. ในฐานะผู้ปกครอง หรือผู้บริหาร จะทำให้สามารถดูคนออกและใช้คนเป็น คือ ใช้ให้เหมาะสมกับงาน แต่ละประเภท ดุจแพทย์ผู้ชำนาญ สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรชนิดต่างๆ ได้ครบถ้วน
     ๒. จะเป็นเหตุให้เกิดเมตตา และให้อภัยเมื่อผู้อื่นทำผิดพลาด คือ เลิกล้มความคิดให้ผู้อื่นเป็นไปตามความต้องการของตน
     ๓. เป็นเหตุให้มีสติย้อนระลึกถึงตนเองว่า มีฐานะเช่นเดียวกับผู้อื่น คือมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี และคิดปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นได้ตามลำดับ
 การ "มองผู้อื่นในแง่ดี" มากเกินไป อาจเป็นความประมาท และเกิดความเสียหายได้ แต่การ "มองแง่ดีของผู้อื่น" นั้น มีประโยชน์อย่างเดียว เพราะจะทำให้เข้าใจ เพื่อนมนุษย์ได้ถูกต้องขึ้น และสามารถหยิบ "แง่ดี" ของผู้อื่นมาใช้ให้เกิด ประโยชน์แก่ตนได้ ดังคำภาษิตของท่าน พุทธทาส ภิกขุที่กล่าวไว้ว่า
จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว
อย่าไปเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง ภาวนา

ธรรมะกับชีวิต ตอน ภาวนา
### ธรรมะกับชีวต เรื่อง ภาวนา ... เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ภาวนา ก็อาจมีคำถามตามมาว่า ภาวนาคืออะไร ใครควรภาวนา ภาวนาแล้วได้อะไร บางครั้งก็พาลเข้าใจไขว้เขวไปว่า การภาวนาเป็นเรื่องของคนแก่หรือนักบวช เท่านั้น ความจริงแล้ว ภาวนามีความหมายว่า การทำให้เกิด ให้มี ให้เป็นขึ้น ได้แก่ การทำความดีต่าง ๆ ให้เกิดมีขึ้นที่กาย วาจา ใจ ของเรานั่นเอง คำพูดหลาย ๆ คำ เช่น การศึกษา การอบรม การสัมมนา การวิจัย เป็นต้น ล้วนมีความหมายเดียวกับการภาวนาทั้งสิ้น จุดมุ่งหมายที่ตรงตัวในการภาวนาก็คือ การกำจัดความโง่เขลาออกจากใจ หรือวิธีแก้โง่นั่นเอง ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่ไม่อยากโง่ จะต้องหมั่นภาวนาในเรื่องต่อไปนี้คือ

  • การศึกษาศิลปวิทยาการต่าง ๆ นับเป็นขั้นต้นของภาวนา พยายามหาความรู้ ใส่ตัว ความรู้ที่จำเป็นโดยย่อมี ๒ อย่างคือ ความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม จะเรียกว่า วิชาชีพ และวิชาประคองชีพก็ได้ ผู้รู้ท่านเปรียบเทียบไว้น่าฟังว่า วิชาชีพเหมือนอาหาร วิชาประคองชีพ เหมือนยากันบูด จะขาดเสียมิได้
  • การวิจัยงานที่ทำ หมายถึง การหัดทำงานด้วยปัญญา คิดอ่านหาวิธีทำให้ ก้าวหน้ากว่าเดิม หัดยกเลิกเพิกถอนการกระทำที่งมงายเสีย ทำด้วยเหตุผล ไม่เอาแต่ใจตัวเป็นใหญ่
  • สมถะ คือ การทำใจให้หายว้าวุ้น พบกับความสุขสงบ เริ่มด้วยหัดสงบกาย ต่อจากนั้นก็หัดสงบวาจา สุดท้ายก็หัดสงบใจ
  • วิปัสสนา คือ การใช้ปัญญาศึกษาให้รู้แจ้งสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เมื่อ รู้แจ้งแล้วก็จะปฏิบัติต่อเรื่องนั้น สิ่งนั้นได้ถูกต้องตามที่ควรเป็น

        สรุปก็คือ เรียน วิจัย สงบจิต พิจารณาความจริง นี่แหละคือ สิ่งที่เป็นงานของภาวนา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มิใช่เรื่องยากเย็น เกินความสามารถที่จะทำได้แต่ประการใดเลย เมื่อภาวนาบ่อยเข้าก็กลายเป็นความชำนาญ ถึงขั้นสามารถปฏิบัติได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ อันจะนำความสงบเย็น ความสุข และความเจริญมาสู่ตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ธรรมะก่อนนอน ตอน เรื่องของลุงบุญ

ธรรมะก่อนนอน เรื่องของลุงบุญ

ธรรมะก่อนนอน ตอน เรื่องของลุงบุญ
       กาลครั้งหนึ่ง ลุงบุญอุ้มลูกชายวัย ๔ ขวบ ขึ้นรถยนต์โดยสารปรับอากาศเพื่อเดินทางไปทำธุระ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อขึ้นไปแล้วได้สังเกตเห็นเบาะว่างอยู่ที่หนึ่งจึงพาลูกไปนั่ง ขณะนั่งลงได้เบียดถูกชายคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่เบาะติดกัน ลุงบุญรีบกล่าวคำขอโทษ พอสิ้นเสียงคำขอโทษ ชายคนนั้นต่อยที่ต้นแขนของลุงบุญพร้อมพูดว่า "นี่น่ะขอโทษ" ลุงบุญทั้งเจ็บและโกรธ พยายามเปลี่ยนความโกรธให้เป็นความเมตตากรุณา คิดว่า "ชายคนนี้คงจะโกรธใครมา หรือมีเรื่องไม่สบายใจอยู่ก่อน พอถูกเราเบียดจึงระบายความโกรธใส่เรา เขาได้ต่อยเราแล้วคงจะสบายใจขึ้น" พอลุงบุญนึกมาถึงตรงนี้ ความโกรธและความเจ็บค่อย ๆ จางหายไป เกิดความสบายใจขึ้นแทนที่ ลุงบุญโดยสารรถคันนั้นไปถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น ลุงบุญใช้วิธีคิดอันมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน ทำให้สามารถเอาชนะความโกรธและเกิดความสบายใจขึ้นมาแทนที่ สมจริงดังพระพุทธพจน์ว่า "โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ แปลว่า ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข"
        วิธีคิด คือ การทำงานของจิตอย่างหนึ่ง ทั้งนี้สุดแต่ใครจะกำหนดกรอบความคิดของตนไปทางใด กล่าวคือ เมื่อบุคคลประสบกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเขาใช้วิธีคิดที่มีโทสะเป็นพื้นฐาน เหตุการณ์นั้น ๆ ก็จะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โต นำโทษทุกข์มาให้ แต่ถ้าเขาใช้วิธีคิดอันมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน เหตุการณ์นั้น ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย สงบเย็น เกิดประโยชน์สุขขึ้นมาแทนที่

ธรรมะสอนชีวิต เรื่อง วางใจ

ธรรมะสอนชีวิต ตอน วางใจ
      ธรรมะสอนชีวิต ประจำวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง วางใจ ... หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี สอนไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้ใดยึดในทุกข์ ก็ประดุจโดนงูเห่ากัด ผู้ใดยึดในสุข ก็เหมือนจับงูเห่าข้างหาง และอาจจะโดนมันแว้งกัดในภายหลัง คำสอนดังกล่าวให้แนวคิดว่า ทุกข์สุขเปรียบประดุจงูเห่า แม้แต่คนที่ประสบกับความสุข ก็ยังต้องมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่จำต้องกล่าวถึงคนที่กำลังมีทุกข์

       ในทางธรรม ความทุกข์เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วก็หาวิธีแก้ไข ถ้ามัวโศกเศร้ารำพัน ท้อแท้เสียใจอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ชีวิตก็ไม่แยกออกจากทุกข์ เรียกว่ายึดในทุกข์ ต้องอยู่กับความเจ็บปวดทรมานเหมือนโดนงูเห่ากัด แต่ถ้าได้สุขแล้วไม่รู้เท่าทันก็จะลืมตัวจนเกิดการยึดมั่นในสุข ไม่ได้แบ่งจิตไว้รองรับเมื่อคราวสุขนั้นสิ้นไป เมื่อเวลานั้นมาถึงก็ต้องเป็นทุกข์อยู่ดี ไม่ต่างกับจับงูเห่าข้างหาง ถึงจะไม่โดนกัดในทันทีแต่ไม่ช้าก็ต้องมีภัยเป็นแน่

       เฉพาะตัวเรื่องจริง ๆ ของสุขหรือทุกข์ไม่ได้มีอิทธิพลต่อมนุษย์เสมอไป การยืนกลางแดดห้านาทีสิบห้านาที บางคนเป็นทุกข์จนทนไม่ได้ แต่บางคนทนได้สบาย ๆ เรื่องเดียวกันแท้ ๆ แต่ทำให้คนสองคนเป็นทุกข์ไม่เท่ากัน นอกจากเหตุผลในด้านสุขภาพร่างกายแล้ว ก็มีเหตุผลด้านจิตใจนี่แหละเป็นตัวกำหนด คือถ้าสุขหรือทุกข์เกิดขึ้นก็จะต้องรู้จักวางจิตใจให้ถูก ไม่เก็บมายึด มาปรุงแต่ง ในทางที่จะเพิ่มปัญหาขึ้นไปอีก แล้วเมื่อนั้นปัญหาก็จักน้อยลงเอง ... สาธุ

#ธรรมะสอนชีวิต

ธรรมะสอนชีวิต ตอน วันสงกรานต์

ธรรมะสอนชีวิต เรื่อง วันสงกรานต์

{ธรรมะสอนชีวิต} ตอน วันสงกรานต์ ... วันสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบดั้งเดิมของไทย ต่อมาภายหลังแม้จะกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสากลนิยมแล้วก็ตาม แต่ชาวไทยก็ยังถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่ง เมื่อวันสงกรานต์เวียนมาถึงต่างก็พร้อมใจกันจัดกิจกรรมดี ๆ ขึ้นมากมาย เช่น การทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังธรรม นำอัฐิบรรพชน ญาติมิตรที่ล่วงลับมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ ปล่อยนกปล่อยปลา รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ นำผ้าใหม่มาเปลี่ยนให้ท่าน เป็นต้น นอกจากนั้นก็จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน แม้จะล่วงล้ำก้ำเกินกันบ้างก็ยอมอภัยไม่ถือสา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็แสดงออกถึงความเป็นคนมีหลักธรรมประจำใจทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ "ได้แสดงกตัญญู ได้รู้เมตตา ได้สามัคคี ได้มีน้ำใจ และได้ให้อภัยแก่กัน"
      ได้แสดงกตัญญู คือได้แสดงออกถึงการรู้คุณของพระรัตนตรัย บิดามารดา ญาติมิตร และผู้ที่เคารพนับถือ
       ได้รู้เมตตา คือได้สัมผัสกับความรักความเมตตาที่มีให้แก่กัน
      ได้สามัคคี คือได้แสดงออกถึงความพร้อมเพรียงความสมัครสมานกลมเกลียวของครอบครัว ชุมชน และหมู่คณะ
       ได้มีน้ำใจ คือได้ปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงความมีน้ำใจต่อผู้อื่น
      ได้ให้อภัยแก่กัน คือความไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน จะหนักนิดเบาหน่อยก็รู้จักให้อภัยกันได้
       เพราะการ "ได้แสดงกตัญญู ได้รู้เมตตา ได้สามัคคี ได้มีน้ำใจ และได้ให้อภัยแก่กัน" นี่แหละ จึงทำให้วันสงกรานต์มีความหมายยิ่งขึ้น เป็นวันที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สามารถอวดชาวโลกได้อย่างภาคภูมิใจ ... นี่ต่างหากจึงถึงเป็นแก่นสารของวันสงกรานต์อย่างแท้จริง!

"ธรรมะก่อนนอน" ตอน วันเกิด

"ธรรมะก่อนนอน" เรื่อง วันเกิด
"ธรรมะก่อนนอน" ตอน วันเกิด &&& เมื่อถึงวันเกิด จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่หาโอกาสทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น ตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา หรือบริจาคทรัพย์เป็นสาธารณกุศล เป็นต้น วันเกิดจึงจัดเป็นวันที่มีประโยชน์วันหนึ่ง เพราะได้กระทำสิ่งที่เป็นสาระแก่ตัวเองและคนอื่น ๆ แม้จะเป็นเพียงปีละครั้งก็ตาม

        ในทัศนะทางศาสนาวันเกิดมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือวันเกิดรูปกายและวันเกิดธรรมกาย วันเกิดรูปกาย ก็คือวันที่เราเกิดจากท้องแม่นั่นเอง ซึ่งทุกคนต้องผ่านการเกิดลักษณะนี้เหมือนกันหมด ส่วนวันเกิดธรรมกายก็คือวันที่คุณงามความดีทั้งหลายเกิดขึ้นในใจของเรา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเรามีรูปกายแล้ว เช่น เกิดความรู้สึกละอายชั่วกลัวบาป เกิดเมตตากรุณาต่อกัน เป็นต้น จนสูงสุดคือการเกิดมรรคผลนิพพานที่ทำให้สิ้นกิเลสสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง การเกิดทั้ง ๒ ลักษณะนี้ ถือว่าเกิดได้ยาก เพราะการที่รูปกายจะอุบัติแต่ละครั้งนั้น มีสัตว์ทั้งหลายแย่งกันเกิดจำนวนมาก แต่ก็เกิดได้เพียงชีวิตเดียว นอกจากนั้นในวันเกิดก็เป็นวันที่แม่และลูกต้องเสี่ยงอันตรายไม่ต่างอะไรกับทหารที่เข้าสู่สนามรบ แม้เมื่อเกิดมาแล้วการที่จะดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยจนสิ้นอายุขัยจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ยาก การเกิดของรูปกายจึงต้องมีบุญเก่าหนุนเนื่องพอสมควรจึงจะเกิดและดำรงอยู่ได้ตลอด ส่วนการเกิดขึ้นของธรรมกายโดยเฉพาะมรรคผลนิพพานนั้น ที่ว่ายาก เพราะนอกจากต้องอาศัยบุญเก่าอย่างมากหนุนเนื่องแล้ว ยังต้องอาศัยความเพียรพยายามในการปฏิบัติอีกด้วย จึงจะสร้างให้เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อสร้างให้เกิดขึ้นได้แล้ว ชีวิตก็มีคุณค่ามหาศาล สามารถทำประโยชน์ได้มากทั้งแก่ตนเองและสังคมส่วนรวม

       วันเกิดนอกจากเป็นวันที่ต้องทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ควรเป็นวันที่ระลึกถึงชีวิตที่ได้มายากแสนยากอีกด้วย และควรถือโอกาสทบทวนคุณงามความดีว่าได้เกิดขึ้นแล้วมากน้อยเพียงใด หากปฏิบัติได้เช่นนี้วันเกิดจะเป็นวันที่มีคุณค่าแก่ชีวิตอย่างสูงสุดทีเดียว /// "ธรรมะก่อนนอน" ตอน วันเกิด


นิทานก่อนนอน ตอน วัดร้าง

นิทานก่อนนอน เรื่อง วัดร้าง
นิทานก่อนนอน ตอน วัดร้าง %!% นิทานก่อนนอนประจำวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๙ นำเสนอ ตอน วัดร้าง ... มีวัดร้างแห่งหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดจึงร้างและร้างมาแต่เมื่อใด ภายหลังเมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้น จึงมีการบูรณะให้เป็นวัดขึ้นมาใหม่ และเพื่อเป็นหลักประกันว่าวัดจะไม่ร้างอีก ทั้งญาติโยมและคณะสงฆ์จึงเลือกเอาเฉพาะพระที่มีความสามารถเด่นเป็นพิเศษมาจำพรรษา ได้พระที่เก่งด้านปฏิบัติธรรมรูปหนึ่ง เก่งทางด้านก่อสร้างรูปหนึ่ง และเก่งทางด้านเทศนาสั่งสอนอีกรูปหนึ่ง ทั้งสามรูปต่างทุ่มเทความรู้ความสามารถเต็มที่ วัดก็เจริญขึ้นจนวัดอื่นเทียบไม่ติด เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั้งใกล้ไกล
        วันหนึ่ง พระทั้งสามรูปมานั่งวิเคราะห์กันว่า การที่วัดเจริญขึ้นอย่างมากเช่นนี้เป็นเพราะอะไร รูปที่หนึ่งบอกว่าเป็นเพราะการเทศนาสั่งสอนของผม จึงทำให้ญาติโยมเลื่อมใสศรัทธา เข้าวัดทำบุญสุนทานกันไม่ขาด วัดจึงเจริญขึ้นอย่างที่เห็น รูปที่สองแย้งขึ้นว่าอันการสั่งสอนให้เกิดความรู้อย่างเดียวนั้น พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าเป็นแค่ใบลานเปล่า หาประโยชน์ไม่ได้ การที่ผมนำญาติโยมปฏิบัติกรรมฐานนี่ต่างหาก ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาแล้วพากันอุปถัมภ์บำรุงวัดของเรา เรื่องอื่นนอกจากปฏิบัติกรรมฐานแล้วไม่มีประโยชน์ที่เป็นสาระทั้งสิ้น ทำให้รูปที่สามขัดขึ้นด้วยความไม่พอใจว่า คุณพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก วัดนี้ถ้าผมไม่เป็นผู้นำการก่อสร้างและพัฒนาขึ้นมา มันก็ต้องเป็นวัดร้างอยู่อย่างนั้น ทั้งสามรูปต่างถกเถียงยืนยันเฉพาะเหตุผลในแง่มุมของตน จนเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกันตั้งแต่บัดนั้น และกลายเป็นความร้าวฉานที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ จนการบริหารงานของวัดดำเนินการต่อไม่ได้ วัดก็เริ่มโทรม ญาติโยมก็เสื่อมศรัทธา ในที่สุดเลยกลายเป็นวัดร้างลงอีกครั้งหนึ่ง

       เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผูกขึ้นเพื่อสอนคน ให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า คนเก่งมักมีด้านมืด อันได้แก่การหลงเข้าไปในความเก่งของตัว ทำให้ถูกครอบงำด้วยทิฐิมานะ คนเก่งจึงต้องคู่กับการมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิด เหตุการณ์เช่นเดียวกับเรื่องวัดร้างจึงจะไม่เกิดขึ้น ... นิทานก่อนนอน ตอน วัดร้าง

ธรรมะกับชีวิต ตอน วัฒนมุข

ธรรมะกับชีวิต 11

ธรรมะกับชีวิต ตอน วัฒนมุข *#$# คำว่า อบายมุข เป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี อบายมุขนั้น แปลว่า ทางแห่งความเสื่อม เช่น เสื่อมจากทรัพย์ เสื่อมชื่อเสียง เสื่อมสุขภาพ เป็นต้น ทางแห่งความเสื่อมนั้นท่านแนะให้ระวังไว้หลายอย่าง เช่น การเสพสุราและของมึนเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่ว เกียจคร้านการงาน เป็นต้น แต่น้อยคนนักที่จะคุ้นเคยหรือได้ยินคำว่า วัฒนมุข ที่แปลว่า ทางแห่งความเจริญ เช่น เจริญด้วยอายุ เจริญด้วยสันติสุข เจริญด้วยทรัพย์ เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยธรรม เจริญด้วยความสำเร็จ เป็นต้น วัฒนมุขนั้นมี ๖ ประการ คือ
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ธรรมะเรื่องล่าสุด

Recent Posts Widget