ในครั้งพุทธกาล หลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ บรรดาผู้นำแคว้นต่าง ๆ ในประเทศอินเดียยุคนั้นถึงขั้นยกกำลังเข้าประจันหน้ากันเพื่อจะทำสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ เพราะเจ้าผู้ครองกรุงกุสินารา ซึ่งเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงไม่ยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แคว้นอื่น ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อโทณะ ได้กล่าววจีประสานขึ้นต่อหน้าผู้แทนแคว้นเหล่านั้นใจความว่า "ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งแห่งเราทั้งหลาย พระองค์เป็นขันติวาท ทรงยกย่องความอดทนอดกลั้นว่าเป็นตบะอย่างยอด การที่พวกเราจะปรารภพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์เป็นเหตุ แล้วประหัตประหารกันเสียเองหาควรไม่ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เราทั้งปวงจงพรักพร้อมกันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ให้เสมอกันทุกพระนคร พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจะได้แพร่หลายไปทั่วทุกทิศ สถิตเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชนส่วนใหญ่ สมดังพุทธจริยาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ด้วยวาทะแห่งโทณพราหมณ์ทำให้แคว้นต่าง ๆ ยอมหันหน้ามาเจรจากัน ยินยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุด้วยความความเต็มใจ ยุติเหตุแห่งไฟสงครามได้อย่างเด็ดขาด
คำว่าประสาน หมายถึงทำให้เข้ากันสนิทหรือเชื่อมเข้าด้วยกัน ส่วนวจี หมายถึงคำพูดหรือถ้อยคำ วจีประสาน จึงหมายถึงการพูดให้คนสองคนหรือสองฝ่ายรักและสนิทสนมกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อสังคมอย่างยิ่ง ถ้าพูดมีเหตุผล พูดสุภาพน่าฟัง และพูดหวังให้เกิดความดีงามเหมือนที่โทณพราหมณ์พูด คำพูดนั้นก็จะเป็นวจีที่ประสานความเข้าใจ ประสานความสามัคคี ความเจริญของหมู่คณะ ในบางขณะจึงต้องกลับมาดูในเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดและมักมองข้ามกันไป นั่นคือเรื่องการพูดจาของเราทั้งหลายนี่เอง
..ติดตามอ่าน นิทานธรรมะ ในแบบนิทานสั้นๆ ให้แง่คิดในการดำเนินชีวิต อ่าน นิทาน ธรรมะ คติ สอน ใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น