แนะนำ! บทความธรรมะอ่านมากที่สุดตอนนี้

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ธรรมะสอนชีวิต แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ธรรมะสอนชีวิต แสดงบทความทั้งหมด

"ธรรมะกับชีวิต" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน ถ้วยกาแฟ

"ธรรมะกับชีวิต" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
"ธรรมะกับชีวิต" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน ถ้วยกาแฟ ... ในงานเกษียณอายุของอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง บรรดาศิษย์เก่าที่จบการศึกษาได้ถือโอกาสกลับมาพบปะชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก หลังจากการสังสรรค์ผ่านไปพักใหญ่ เมื่อวงสนทนาเปลี่ยนมาเป็นเรื่องการครองชีพ ความเครียดก็เกิดขึ้น บางคนบ่นน้อยใจในโชควาสนา บางคนก็พูดถึงภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกวัน บางคนโหมงานหนักจนสุขภาพย่ำแย่ บางคนก็อับอายเรื่องฐานะไม่กล้าพูดคุยกับเพื่อนฝูง ฝ่ายอาจารย์ใหญ่ได้แต่ยืนฟังอย่างสงบ ครั้นถึงเวลาเลี้ยงกาแฟ ท่านเดินเข้าไปในห้องครัว แล้วออกมาพร้อมกับกาแฟเหยือกโตและถ้วยกาแฟหลายใบ มีทั้งแบบพื้น ๆ ธรรมดาราคาถูก และที่สวยงามราคาแพง แล้วบอกให้ลูกศิษย์เลือกถ้วยกาแฟจัดการรินกาแฟดื่มกันตามใจชอบ

       ทุกคนต่างพากันเลือกถ้วยกาแฟที่สวย ๆ ราคาแพง ไม่มีใครอยากได้แบบที่เป็นธรรมดาราคาถูกสักคนเดียว เมื่อลูกศิษย์ต่างมีถ้วยกาแฟอยู่ในมือครบแล้ว อาจารย์ใหญ่จึงพูดขึ้นว่า "คนเรามักจะเลือกสิ่งที่เห็นว่าดีที่สุด โดยลืมคิดถึงความต้องการที่แท้จริง และนี่คือที่มาของความเครียดและปัญหาทั้งหลายในชีวิต ความจริงขณะนี้สิ่งที่พวกเธอต้องการแท้จริงคือกาแฟ ไม่ใช่ถ้วยกาแฟ แต่จิตสำนึกกลับทำให้พวกเธอยึดติดกับถ้วย ชีวิตก็เช่นกัน หากตระหนักในความต้องการแท้จริงของชีวิต ไม่หลงติดแค่ส่วนประกอบก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะส่วนประกอบแม้จะขาดหายไปบ้าง ก็ไม่ทำให้เนื้อหาจริง ๆ ของชีวิตเปลี่ยนไป"


       เรื่องข้างต้นนี้เป็นอุทาหรณ์ในประเด็นของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี คือถ้าเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียงจะเป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของชีวิตว่าต้องการอะไร เมื่อได้มาตามนั้นก็สร้างความรู้สึกว่าพอเพียงแล้ว พอเหมาะพอสมแล้ว ชีวิตก็เป็นสุข เหมือนเมื่อความต้องการที่แท้จริงอยู่ที่การดื่มกาแฟ เมื่อได้ถ้วยกาแฟที่พอเหมาะพอสม ก็พอเพียงแล้วสำหรับการดื่มกาแฟให้มีความสุข ไม่ต้องไปดิ้นรนให้เดือดร้อนวุ่นวายไปอีกเปล่า ๆ


ธรรมะกับความรัก ตอน ศัตรูชีวิต

ธรรมะคู่ชีวิต
ธรรมะกับความรัก ตอน ศัตรูชีวิต
      คำว่า ศัตรู หมายถึงข้าศึก ปรปักษ์ ผู้จองเวร มีบทบาทในการทำลายล้าง รบกวนความสงบสุขของ ผู้อื่น เมื่อใครมีศัตรู ชีวิตจะประสบความเดือดร้อน อยู่ไม่เป็นสุข การมีศัตรูแม้เพียงคนเดียวก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสามารถเบียดเบียนทำลายล้างจนชีวิตต้องหายนะได้ อุปมาเหมือนกับไฟ แม้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำลายได้กว้างไกล ศัตรูนั้นมี ๒ ประเภท คือ

        ๑. ศัตรูภายนอก ได้แก่ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนซึ่งอยู่นอกตัวเราทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นศัตรูที่มาในรูปของศัตรู สามารถมองเห็นด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู มีตัวตนสัมผัสได้ จึงสามารถหาทางหลบหลีก หรือวางแผนต่อสู้ป้องกัน ทำให้ชีวิตปลอดภัย หรืออย่างน้อยก็ได้รับความเดือดร้อนน้อยลง

         ๒. ศัตรูภายใน ได้แก่กิเลสที่อยู่ในใจที่คอยชักนำให้กระทำความชั่วต่างๆ กล่าวโดยประเภทมี ๓ คือ โลภะ ได้แก่ความละโมบอยากได้ในทางทุจริต โทสะ ได้แก่ความคิดประทุษร้ายอาฆาตแค้นผู้อื่น และ โมหะ ได้แก่ความหลงไม่รู้จริง เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ศัตรูชนิดนี้เป็นศัตรูของชีวิตที่มาในรูปของมิตร น่ากลัวยิ่งกว่าศัตรูใดๆ เพราะจะหลอกล่อให้ผู้นั้นสมัครใจที่จะทำลายตัวเองจนย่อยยับ

        คนที่เอาชนะศัตรูภายนอก แม้จะชื่อว่าเป็นคนเก่ง เป็นวีรบุรุษ แต่ทางธรรม ยังไม่ถือว่าเป็นยอดนักรบ เพราะเป็นชัยชนะที่อาจกลับแพ้ได้ ชนะแล้วก็ยังเป็นทุกข์ ส่วนผู้ที่เอาชนะศัตรูภายใน ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูชีวิตได้ คือไม่ถูกโลภะ โทสะ โมหะครอบงำย่ำยีนั่นแหละ จึงเป็นยอดนักรบที่แท้จริง เพราะจะไม่มีโอกาสกลับแพ้ได้เลย เป็นชัยชนะที่กำจัดเวรภัยได้ราบคาบ พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญไว้ว่า "อัตตา หะเว ชิตัง เสยโย - ชนะตนนั่นแลประเสริฐที่สุด"

ธรรมะกับชีวิต ตอน เรื่องของเวลา

ธรรมะกับชีวิต เรื่อง เรื่องของเวลา
ธรรมะกับชีวิต ตอน เรื่องของเวลา ... ธรรมะกับชีวิตประจำวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ นำเสนอในตอน เรื่องของเวลา ... มีบางคนกล่าวว่า "ในโลกนี้ ไม่มีความยุติธรรมเลย มีแต่อิทธิพล ของเส้นสายและทรัพย์สินเท่านั้น" ซึ่งก็อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ความจริงยังมีสิ่งหนึ่ง ซึ่งให้ความยุติธรรมแก่ทุกคน สิ่งนั้นก็คือ "วันและเวลา" นั่นเอง เพราะวันหนึ่งของแต่ละคนก็มี ๒๔ ชั่วโมง เดือนหนึ่งก็มีคนละ ๓๐ วัน และปีหนึ่งก็มีคนละ ๓๖๕ วันเท่านั้น จึงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเลย      
     บุคคลผู้มองไม่เห็นคุณค่าของเวลา มักใช้ชีวิตด้วยความประมาท เกียจคร้านการงาน ปล่อยให้ชีวิต สิ้นเปลืองไป กับการเล่น การกิน การเที่ยวมัวเมาเพลิดเพลิน กับความสนุกสนานไปวันๆ  ซึ่งท่านเรียกบุคคล ประเภทนี้ว่า   "ผู้ตกเป็นเหยื่อของกาลเวลา" ในไม่ช้าก็จะเดือดร้อน และเสียใจในภายหลัง เพราะวันเวลา เมื่อล่วงเลยไปแล้ว ไม่อาจหมุนกลับมาอีก ดังคำกลอนสอนใจที่ว่า "เวลาและวารีมิได้ยินดีจะคอยใคร เรือเมล์ และรถไฟ มันก็ไปตามเวลา" ส่วนผู้ไม่ประมาท ย่อมมองเห็นคุณค่าของเวลา คือเห็นเวลาทุกนาที เป็นเงินเป็นทอง มีความขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอยง่าย รู้จักใช้เวลาแต่ละวินาทีให้คุ้มค่า คือให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวม ซึ่งท่านเรียกว่า "ผู้ไม่ยอมให้เวลากลืนกินตน" ย่อมจะมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ ในบั้นปลายอย่างแน่นอน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ผู้ที่เห็นคุณค่า ของเวลา มีความเพียร ไม่ท้อถอย แม้จะมีอายุเพียงวันเดียว ก็ยังดีกว่า คนมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี แต่มีความเกียจคร้านเป็นอุปนิสัย"


     ความจริงปรากฏว่า การที่เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงบำเพ็ญเพียร จนได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด ก็เพราะทรงเห็นคุณค่าของกาลเวลานั่นเอง หรือแม้แต่การที่สามัญชน คนธรรมดา ได้พยายามศึกษาเล่าเรียน จนจบการศึกษา ทำงาน และมีความก้าวหน้าในชีวิตการงาน โดยลำดับ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าขององค์กร ของประเทศชาติ ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุ คือการมองเห็นคุณค่าของกาลเวลาทั้งสิ้น
     ดังนั้น ผู้หวังความเจริญก้าวหน้าและเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม จึงควรพยายามสร้างตัว ด้วยจิตสำนึก เรื่องกาลเวลาเสียแต่บัดนี้


ธรรมะสอนชีวิต เรื่อง วางใจ

ธรรมะสอนชีวิต ตอน วางใจ
      ธรรมะสอนชีวิต ประจำวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง วางใจ ... หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี สอนไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้ใดยึดในทุกข์ ก็ประดุจโดนงูเห่ากัด ผู้ใดยึดในสุข ก็เหมือนจับงูเห่าข้างหาง และอาจจะโดนมันแว้งกัดในภายหลัง คำสอนดังกล่าวให้แนวคิดว่า ทุกข์สุขเปรียบประดุจงูเห่า แม้แต่คนที่ประสบกับความสุข ก็ยังต้องมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่จำต้องกล่าวถึงคนที่กำลังมีทุกข์

       ในทางธรรม ความทุกข์เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วก็หาวิธีแก้ไข ถ้ามัวโศกเศร้ารำพัน ท้อแท้เสียใจอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ชีวิตก็ไม่แยกออกจากทุกข์ เรียกว่ายึดในทุกข์ ต้องอยู่กับความเจ็บปวดทรมานเหมือนโดนงูเห่ากัด แต่ถ้าได้สุขแล้วไม่รู้เท่าทันก็จะลืมตัวจนเกิดการยึดมั่นในสุข ไม่ได้แบ่งจิตไว้รองรับเมื่อคราวสุขนั้นสิ้นไป เมื่อเวลานั้นมาถึงก็ต้องเป็นทุกข์อยู่ดี ไม่ต่างกับจับงูเห่าข้างหาง ถึงจะไม่โดนกัดในทันทีแต่ไม่ช้าก็ต้องมีภัยเป็นแน่

       เฉพาะตัวเรื่องจริง ๆ ของสุขหรือทุกข์ไม่ได้มีอิทธิพลต่อมนุษย์เสมอไป การยืนกลางแดดห้านาทีสิบห้านาที บางคนเป็นทุกข์จนทนไม่ได้ แต่บางคนทนได้สบาย ๆ เรื่องเดียวกันแท้ ๆ แต่ทำให้คนสองคนเป็นทุกข์ไม่เท่ากัน นอกจากเหตุผลในด้านสุขภาพร่างกายแล้ว ก็มีเหตุผลด้านจิตใจนี่แหละเป็นตัวกำหนด คือถ้าสุขหรือทุกข์เกิดขึ้นก็จะต้องรู้จักวางจิตใจให้ถูก ไม่เก็บมายึด มาปรุงแต่ง ในทางที่จะเพิ่มปัญหาขึ้นไปอีก แล้วเมื่อนั้นปัญหาก็จักน้อยลงเอง ... สาธุ

#ธรรมะสอนชีวิต

ธรรมะสอนชีวิต ตอน วันสงกรานต์

ธรรมะสอนชีวิต เรื่อง วันสงกรานต์

{ธรรมะสอนชีวิต} ตอน วันสงกรานต์ ... วันสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบดั้งเดิมของไทย ต่อมาภายหลังแม้จะกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสากลนิยมแล้วก็ตาม แต่ชาวไทยก็ยังถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่ง เมื่อวันสงกรานต์เวียนมาถึงต่างก็พร้อมใจกันจัดกิจกรรมดี ๆ ขึ้นมากมาย เช่น การทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังธรรม นำอัฐิบรรพชน ญาติมิตรที่ล่วงลับมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ ปล่อยนกปล่อยปลา รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ นำผ้าใหม่มาเปลี่ยนให้ท่าน เป็นต้น นอกจากนั้นก็จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน แม้จะล่วงล้ำก้ำเกินกันบ้างก็ยอมอภัยไม่ถือสา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็แสดงออกถึงความเป็นคนมีหลักธรรมประจำใจทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ "ได้แสดงกตัญญู ได้รู้เมตตา ได้สามัคคี ได้มีน้ำใจ และได้ให้อภัยแก่กัน"
      ได้แสดงกตัญญู คือได้แสดงออกถึงการรู้คุณของพระรัตนตรัย บิดามารดา ญาติมิตร และผู้ที่เคารพนับถือ
       ได้รู้เมตตา คือได้สัมผัสกับความรักความเมตตาที่มีให้แก่กัน
      ได้สามัคคี คือได้แสดงออกถึงความพร้อมเพรียงความสมัครสมานกลมเกลียวของครอบครัว ชุมชน และหมู่คณะ
       ได้มีน้ำใจ คือได้ปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงความมีน้ำใจต่อผู้อื่น
      ได้ให้อภัยแก่กัน คือความไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน จะหนักนิดเบาหน่อยก็รู้จักให้อภัยกันได้
       เพราะการ "ได้แสดงกตัญญู ได้รู้เมตตา ได้สามัคคี ได้มีน้ำใจ และได้ให้อภัยแก่กัน" นี่แหละ จึงทำให้วันสงกรานต์มีความหมายยิ่งขึ้น เป็นวันที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สามารถอวดชาวโลกได้อย่างภาคภูมิใจ ... นี่ต่างหากจึงถึงเป็นแก่นสารของวันสงกรานต์อย่างแท้จริง!

ธรรมะกับชีวิต ตอน คนกับรอยร้าวทั้งห้า

ธรรมะกับชีวิต 3

ธรรมะกับชีวิต ตอน คนกับรอยร้าวทั้งห้า @@@ อาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย แม้จะก่อสร้างอย่างมั่นคงดีเลิศเพียงใด หากพื้นซึ่งเป็นที่รองรับไม่แข็งแรงดีพอก็จะทรุดตัว แตกร้าว และพังทลายลงได้ ฉันใด ชีวิตของคนก็เช่นกัน คือ ถ้าพื้นไม่ดีเสียอย่างเดียว ก็จะล่มสลายได้ในที่สุด ฉันนั้น และวิธีดูความมั่นคงของพื้นท่านให้สังเกตที่รอยร้าว เช่น ถ้าเห็นตึกหลังใดมีรอยร้าวปรากฏก็สันนิษฐานได้ว่า ฐานหรือพื้นของตึกหลังนั้นไม่ดี ในส่วนของคน ท่านผู้รู้แนะให้ดูที่รอยร้าวคือพฤติกรรม 5 อย่าง คือ
       1. โหดร้าย ฆ่าหรือเบียดเบียนผู้อื่นในทางชีวิตและร่างกาย
       2. มือไว ลักขโมยหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทางใดทางหนึ่ง
       3. ใจเร็ว ประพฤติผิดประเวณี ขาดการยับยั้งชั่งใจ
       4. ขี้ปด ละทิ้งความสัตย์ความจริง ใช้ความเท็จเอาตัวรอดหรือแสวงหาผลประโยชน์
       5. หมดสติ เสพสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดจนทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาบ้าง ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจบ้าง
       โหดร้ายหนึ่ง มือไวหนึ่ง ใจเร็วหนึ่ง ขี้ปดหนึ่ง หมดสติหนึ่ง หากผู้ใดมีพฤติกรรมห้าอย่างนี้ปรากฏออกมา แสดงว่าพื้นชีวิตของผู้นั้นมีความเสียหาย ถ้าเป็นอาคารก็เริ่มมีรอยร้าวปรากฏ หากรอยร้าวนั้นใหญ่ขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาคารนั้นก็จะพังถล่มลงในที่สุด แต่ตึกร้าวก็ยังไม่น่ากลัวเท่าคนร้าว เพราะคนร้าวนั้น สามารถสร้างความเสียหายได้ลึกและกว้างขวางกว่ามาก ปัญหาอาชญากรรม และความเดือดร้อนวุ่นวายในทุกวันนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ สำหรับมนุษย์อย่างเราๆ ท่าน การมีไว้ซึ่งศีล 5 จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่สำคัญ ชีวิตของผู้ใดที่ตั้งอยู่บนฐานคือศีล 5 จะมั่นคง ไม่แตกร้าวพังทลายอย่างแน่นอน @@@ ธรรมะกับชีวิต ตอน คนกับรอยร้าวทั้งห้า
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ธรรมะเรื่องล่าสุด

Recent Posts Widget