แนะนำ! บทความธรรมะอ่านมากที่สุดตอนนี้

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง คน ๔ ประเภท

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง คน ๔ ประเภท
   สังคม หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงาน บริษัท ก็จะต้องมีคนมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่โบราณได้แบ่งไว้  ๔  ประเภท ด้วยกัน คือ คนฉลาดและขยัน คนฉลาดแต่ขี้เกียจ คนโง่และขี้เกียจ และสุดท้ายคือ คนโง่แต่ขยัน มีลักษณะและความแตกต่าง ดังต่อไปนี้

   คนประเภทที่ ๑  คนฉลาดและขยัน  คนประเภทนี้ ถ้าส่งเสริมให้ดีแล้วต่อไปภายภาคหน้า จะได้เป็นเจ้าคนนายคน เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ จึงควรเลี้ยงไว้ และไม่ควรเลี้ยงไว้ห่างสายตา แต่อย่าให้ใกล้ชิดเกินไป เพราะอันตราย
  คนประเภทที่  ๒  คนฉลาดแต่ขี้เกียจ คนประเภทนี้ควรให้ทำงานในเรื่องที่เกียวกับการใช้หัวคิด หรือวางแผนจะเหมาะที่สุด เพราะเป็นคนเก่ง คิดไว แต่การปฏิบัติต้องมีคนช่วย
  คนประเภทที่  ๓  คนโง่และขี้เกียจ คนประเภทนี้พอเอาไปเป็นแรงงานได้ แต่ต้องคอยจับตาดู คอยแนะนำให้ทำตาม หรือให้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น ปล่อยให้ทำเองไม่ได้
  คนประเภทที่  ๔  คนโง่แต่ขยัน  คนประเภทนี้มักสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม อันตรายต่อสังคมและองค์กร ไม่ว่าจะให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด ก็ก่อความวุ่นวาย เดือดร้อนได้ง่าย
ในสังคมหรือองค์กรไหนก็ตาม ย่อมจะมีคน ๔  ประเภทนี้อยู่ด้วยเสมอ การจะใช้งานคนในสังคมหรือองค์กรนั้นๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะนิสัยหรือคุณภาพของคน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังมีคำกล่าวว่า put the right man on the right job เพราะการเลือกคนได้เหมาะกับงาน ก็มีแต่ความสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม การเลือกใช้คนไม่ถูกกับงาน ก็มีแต่จะล้มเหลว และเป็นอันตรายทั้งแก่สังคมและองค์กรในวงกว้างเช่นกัน แล้วท่านล่ะ คิดว่าอยู่ในประเภทไหน... ธรรมะก่อนนอน เรื่อง คน ๔ ประเภท

นิทานคุณธรรม เรื่อง กระจกใจ

นิทานคุณธรรม เรื่อง กระจกใจ
   มีเรื่องเล่าว่า สามีภรรยาคู่หนึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในตัวเมือง ทุกๆ เช้า ผู้เป็นภรรยาจะแอบดูเพื่อนบ้าน ผ่านกระจกหน้าต่างชั้นบน และคอยรายงานให้สามีฟังเสมอๆ ว่า เพื่อนบ้านคนนี้ คนนั้น ซักผ้าไม่เป็นเลย เสื้อผ้าสกปรกเหลือเกิน ไม่รู้ว่าใช้ผงซักฟอกยี่ห้ออะไร หรือใช้วิธีซักอย่างไร ฝ่ายสามีก็มักจะกล่าวแก่ภรรยาเสมอๆ ว่า อย่าไปสนใจคนอื่นเลย เราซักผ้าของเราให้สะอาดก็แล้วกัน แต่ภรรยาก็ยังคอยแอบดูเพื่อนบ้านผ่านกระจกหน้าต่างชั้นบนอยู่ทุกเช้า และคอยรายงานให้สามีฟังทุกครั้งเช่นเคย
   ต่อมา วันหนึ่ง ภรรยาได้วิ่งลงมารายงานสามีด้วยท่าทางประหลาดใจว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ เสื้อผ้าของเพื่อนบ้านขาวสะอาดผิดปกติ อยากจะรู้เหลือเกินว่า เขาเปลี่ยนมาใช้ผงซักฟอกยี่ห้ออะไร หรือทำอย่างไร ฝ่ายสามีหัวเราะแล้วกล่าวว่า เมื่อเช้าฉันตื่นแต่เช้ามืดและไปเช็ดกระจกหน้าต่างชั้นบนจนใสสะอาด ก่อนหน้านี้กระจกมันสกปรก เมื่อเธอมองออกไปภายนอกก็เลยพลอยเห็นแต่ความสกปรกไปด้วย...



   ในแง่คิดทางธรรม คนเราจะมองคนอื่นผ่านกระจก คือ จิตใจตนเอง ถ้าจิตใจของเราใสสะอาด เราก็จะเห็นแต่ความดีความงามของคนอื่น และมองเห็นสิ่งรอบๆ ตัวดีงามไปด้วย แต่ถ้าจิตใจของเราขุ่นมัว เราก็จะเห็นแต่ความไม่ดีไม่งามของคนอื่น และมองเห็นสิ่งรอบๆ ตัวไม่ดีไม่งามไปด้วย การที่เราได้เห็นความดีหรือความไม่ดีรอบๆ ตัวเรา แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เราเห็นมันเกิดขึ้นในจิตใจของเรานี่เอง ดังนั้น เราจะต้องพยายามฝึกจิตใจ ทำใจให้ใสสะอาด ปราศจากกิเลสให้มากที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้จิตใจขุ่นมัว จะส่งผลให้เราคิดชั่ว ใช้อารมณ์ มองเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่งามอยู่ตลอดเวลา และ เป็นทุกข์ติดตามมา แต่ถ้าฝึกจิต ทำใจให้สะอาด จะส่งผลให้เราคิดดี ใช้ปัญญา มองสิ่งต่างๆ ในแง่ดี และมีความสุขในที่สุด


ธรรมะก่อนนอน เรื่อง ความซื่อสัตย์ใกล้ตัว

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง ความซื่อสัตย์ใกล้ตัว #$ ตามปกติสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัว เรามักจะมองเห็นหรือได้ยินได้ฟังก่อนสิ่งที่อยู่ไกลตัวเสมอ ความซื่อสัตย์ก็เช่นกัน หากเราสังเกตุก็จะพบอยู่ใกล้ๆ ตัวเราเช่นกัน ยกตัวอย่าง ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงาน องค์กร ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ต่อผู้ร่วมงาน ซื่อสัตย์ต่อตนเอง เป็นต้น ในแง่ทางธรรม บุคคลจะดำรงอยู่ในความซื่อสัตย์อย่างยั่งยืนและมีความสุขได้ ย่อมต้องอาศัยคุณธรรมอื่นช่วยหนุน คุณธรรมที่ว่านี้ เรียกว่า ธรรมฉันทะ แปลว่า ความรัก ความพอใจและความชอบ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ ถ้าเริ่มด้วยความรัก และพอใจแล้ว ก็จะดึงสิ่งที่ดีงามอย่างอื่นเข้ามารวมอยู่ด้วยกัน เช่น ดึงความพากเพียรพยายามออกมาช่วย ดึงความอดทนและความเฉลียวฉลาดเข้ามาเป็นพวก เป็นต้น ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างจากชายหนุ่มที่รักสาวย่อมจะไม่กลัวผีหลอก แม้จะต้องเดินผ่านป่าช้าในเวลาค่ำคืนเพื่อไปพบคนรัก ฉันใด การดำรงตนมั่นคงอยู่ในความซื่อสัตย์ก็ฉันนั้น ถ้ามองให้เห็นคุณประโยชน์จนเกิดความรักและพอใจแล้ว ในการปฏิบัติ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ยั่วยุหรือยั่วยวน ก็ไม่สามารถทำให้เสื่อมจากความซื่อสัตย์ไปได้เลย


   ความซื่อสัตย์นี้ แม้เราจะได้ยิน ได้ฟัง มาอย่างหลากหลาย แต่ทุกๆ ด้าน ความซื่อสัตย์ล้วนมีรสเป็นอย่างเดียวกัน นั่นคือ มีเกียรติ์ มีชื่อเสียง ได้รับความยกย่องน่านับถือ คำสรรเสริญเล่าลือเป็นรส ดังคำพระทีว่า "สัจเจนะ กิตติง ปัปโปติ แปลได้ว่า คนได้เกียรติเพราะซื่อสัตย์" ดังนั้น การดำรงอยู่ในความซื่อสัตย์ ก็เป็นการสร้างเกียรติให้แก่ตนเองโดยตรงนั่นเอง

ธรรมะก่อนนอน เรื่อง ทางก้าวหน้าสำหรับคนทำงาน

   +++ ทุกคนในโลกนี้ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ทั้งงานรัฐ บริษัทเอกชน หรือแม้แต่งานส่วนตัว ย่อมปรารถนาความสำเร็จ ความก้าวหน้าด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ได้เลือนยศ ได้เงินเดือนสูงขึ้น ได้รางวัล ได้โบนัส หากทำการค้าขายก็อยากให้สินค้าของตนขายดิบขายดี มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ เป็นต้น ทางศาสนามองว่า คนที่ปรารถนาความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ควรยึดมั่นในหลักธรรม ๗ ประการ ได้แก่


๑.  อุฏฐานะ หมายถึง มีความเพียร คือ ขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
๒.  สติ  หมายถึง มีสติ คือ ระมัดระวังตนอยู่ตลอดเวลา ควบคุมสติอารมย์ไว้ได้ คิดก่อนทำ ก่อนพูด
๓.  สุจิกัมมะ หมายถึง มีการงานสะอาด คือ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใด ไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษแก่ใคร ประกอบแต่งานที่สุจริต งานที่ชอบด้วยกฏหมาย และ
ศีลธรรม
๔.  นิสัมมการี หมายถึง มีความรอบคอบ คือ มีความละเอียดรอบคอบ ใคร่ครวญพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
๕.  สัญญตะ หมายถึง มีความสำรวม คือ มีกริยามารยาทเรียบร้อยน่าเลื่อมใส สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่โอ้อวดตัว ไม่ข่มเหงผู้อื่นด้วยกริยาอาการ หรือคำพูด ไม่ดูหมิ่นคนอื่นที่ด้วยกว่าตนทั้งฐานะ และการศึกษา
๖.  ธัมมวิหารี หมายถึง เป็นอยู่โดยธรรม คือ มั่นคงอยู่ในศีลธรรม ยึดธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
๗.  อัปปมัตตะ หมายถึง ไม่ประมาท คือ ไม่หลงมัวเมา หรือประมาทเลินเล่อ จนงานที่รับผิดชอบเกิดความผิดพลาดเสียหาย 

ความเจริญก้าวหน้าเป็นสิ่งที่ต้องการของคนทำงานในทุกยุคทุกสมัย วิธีการที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้านั้นก็แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับคนทำงานที่ยึดมั่น ดำรงตนอยู่ในหลักธรรม ๗ ประการข้างต้น ดังกล่าวแล้ว มีแต่ความเจริญก้าวหน้าถ่ายเดียวแบบยั่งยืนตลอดไป



ธรรมะก่อนนอน เรื่อง ชีวิตนี้สั้นนัก


คำว่า ชีวิตนี้...สั้นนัก ในทีนี้หมายถึง โอกาสในการสร้างความดีของมนุษย์เรามีอยู่อย่างจำกัด เพราะชีวิตขึ้นอยู่กับกาลเวลา เมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ชีวิตของมนุษย์เราย่อมลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเราได้ชีวิตมา จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และอยู่ดีมีความสุข อีกทั้งใช้ชีวิตที่มีอยู่อย่างจำกัด สร้างคุณงามความดี เมื่อชีวิตจะต้องต่อสู้ดิ้นรนแข่งกับเวลาอย่างนี้แล้ว หากมัวแต่นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองไม่ชอบใจ เช่น คนโน้นเคยด่าเรา เคยทะเลาะกับเรา เราไม่ชอบหน้าคนโน้นคนนี้ นอกจากจะเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้ลืมหน้าที่ของตนเองว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำอีกด้วย และการย้ำคิดย้ำทำใเรื่องไม่ดีเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพจิตอีกด้วย
   ฉะนั้น ทางพุทธศาสนาจึงสอนย้ำเสมอว่า ชีวิตนี้สั้นนัก เป็นการเตือนสติให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในวัยและในชีวิต ดังนี้


๑.  ปฐมวัย ต้องขยันศึกษาหาความรู้ หรือเตรียมความพร้อมด้านการศึกษา เพราะการศึกษา คือ เครื่องมือนำไปสู่การสร้างโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิต
๒.  มิชฌิมวัย ต้องขยันทำงานหาทรัพย์ รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างประหยัด และรู้พอเพียงสมกับฐานะของตนเอง
๓.  ปัจฉิมวัย ขยันสร้างบุญกุศล หาความสงบสุขทางใจ อันเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อไปสู่ภพภูมิที่ดีเมื่อเราละจากโลกนี้ไป
สรุปได้ว่า เราจะทำอะไรต้องรีบทำ เพราะชีวิตนี้สั้นนัก สมดังคำประพันธ์ที่นักปราชญ์กล่าวไว้ว่า
เวลาและวารี มิได้มีจะคอยใคร เรือเมล์และรถไฟ มันก็ไปตามเวลา
โอ้ เอ้ และอืดอาด ก็จะพลาดปรารถนา ชวดแล้วจะโศกา อนิจจาเราช้าไป



นิทานคุณธรรม เรื่อง ความลับไม่มีในโลก


นิทานคุณธรรม เรื่อง ความลับไม่มีในโลก
   มีเรื่องเล่าไว้ในชาดกว่า อาจารย์ท่านหนึ่งต้องการจะยกลูกสาวให้แต่งงานกับลูกศิษย์ผู้มีคุณธรรม จึงออกอุบายว่า ให้ศิษย์แต่ละคนไปขโมยของจากพ่อแม่หรือญาติพี่น้องมาให้ได้มากที่สุด ลูกศิษย์แต่ละคนต่างก็ไปขโมยของมาให้อาจารย์ตามที่จะขโมยได้ บางคนขโมยของมีราคามาก บางคนขโมยของมีราคาปานกลาง และบางคนขโมยของมีราคาน้อย แต่มีศิษย์คนหนึ่งกลับมามือเปล่า เมืออาจารย์สอบถาม ก็ได้รับคำตอบจากเขาว่า เหตุที่เขาไม่กล้าขโมยของ เพราะเขาเชื่อว่า ความลับในการทำชั่วไม่มีในโลก ไม่ว่าในบ้านหรือในป่า แม้ผู้อื่นจะไม่เห็น แต่ตัวเองก็ยังมองเห็น และตัวเองนั่นแหล่ะย่อมรู้ว่า ทำดีหรือชั่ว อาจารย์ได้เห็นความมีคุณธรรมของศิษย์ผู้นั้นแล้ว จึงยกลูกสาวให้ ทั้งยังยกย่องเขาให้เป็นแบบอย่างของการเป็นคนดีมีคุณธรรมแก่ศิษย์อื่นๆ อีกด้วย


จากเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนทำความชั่วในที่ลับด้วยคิดว่าไม่มีใครรู้ โดยเฉพาะความชั่วร้าย เช่น ฆาตรกรรม หรือการปล้นจี้ เป็นต้น ในที่สุดความชั่วนั้นก็จะเปิดเผยออกมาจนได้ คนที่ทุจริตคิดไม่ซือตรงนั้น แม้เบื้องต้นจะไม่มีใครพบเห็น หรือจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพราะคนที่ทำความชั่วทุกคน ย่อมจะพยายามทำอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเป็นที่สุด แต่สุดท้ายความลับในการทำความชั่วก็ถูกเปิดเผยออกมาจนได้ ไม่เร็วก็ช้า จากนิทานคุณธรรม เรื่อง ความลับไม่มีในโลก เกี่ยวข้องกับหลักธรรมะตรงๆ ๒ ประการ ได้แก่ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คือ หิริ ความละอายแก่ใจ ไม่กล้าทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลจากการทำชั่วจะตามสนอง จึงจำเป็นในทุกสถานและในกาลทุกเมื่อ ดังนั้น ก่อนจะทำอะไรลงไป จึงควรระลึกถึงคำพระที่ว่า นัตถิ โลเก ระโหนามะ ซึ่งแปลว่า ความลับไม่มีในโลก แล้วชีวิตจะปลอดภัยทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ในชาตินี้และชาติหน้า


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ธรรมะเรื่องล่าสุด

Recent Posts Widget