ในโลกนี้ ความอยากได้กับสิ่งที่ได้มาจริงมักจะไม่สมดุลกัน เพราะความอยากนั้นเกิดได้ง่ายและเกิดได้มากไม่มีสิ้นสุด ขณะที่ผลประโยชน์หรือทรัพย์สินที่อยากได้นั้น เป็นเรื่องที่ได้มายากกว่า มีปริมาณจำกัดกว่า เมื่อได้มาแล้ว จึงต้องให้ความสำคัญกับการเก็บออมและการใช้ให้คุ้มค่า ในทางธรรม การสร้างอนาคตและการทำมาหากินในทางสุจริตนั้นเป็นสัมมาชีพ แต่ถึงจะเป็นสัมมาชีพก็ใช่ว่า เมื่อลงมือทำแล้วจะต้องได้ผลเต็มที่อย่างที่ตั้งใจไว้ทุกครั้ง ท่านจึงสอนว่า เมื่อตั้งใจทำอะไรสุดความสามารถแล้ว ให้ยอมรับผลที่เกิดขึ้นนั้นในลักษณะที่ว่าได้เท่าที่ได้ หรือได้เท่าไรก็เท่านั้น
การตั้งใจในลักษณะนี้ มองดูเผิน ๆ เหมือนการไม่ทำอะไรจริงจัง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะได้เท่าที่ได้หรือได้เท่าไรก็เท่านั้นนี้ มิได้หมายถึงในขั้นตอนการทำงาน แต่หมายถึงในขั้นตอนการรับผล คือเมื่อรู้ว่าทำเต็มที่แล้วแต่ไม่ได้อย่างที่หวังไว้ก็ยอมรับโดยดี มิฉะนั้น สิ่งที่ได้เท่าที่ได้ ซึ่งไม่ค่อยจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่แล้วจะถูกหารสองอีก คือแทนที่จะมีความสุขเต็มที่กับสิ่งที่ได้ แต่จะกลายเป็นว่ามีความทุกข์ใจเข้ามายึดพื้นที่ไว้อีกครึ่งหนึ่ง เป็นความทุกข์ที่ไม่น่าจะเกิด ผู้รู้จึงสอนไว้ว่า ....
ถ้าทุกคน ได้ทุกอย่าง ดั่งที่คิด สิ้นชีวิต จะเอาของ กองไว้ไหน
มันได้บ้าง เสียบ้าง ช่างปะไร ได้เท่าไร ก็เท่านั้น แหละท่านเอย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น