ยศนั้น โดยลักษณะแล้วมี ๓ ประเภท ได้แก่
๑. อิสริยยศ ยศคือความเป็นใหญ่ด้วยตำแหน่ง
๒. บริวารยศ ยศคือพวกพ้องบริวาร มีคนคอยช่วยเหลือ
๓. เกียรติยศ ยศคือชื่อเสียง ความยกย่องนับถือที่ได้รับจากการทำความดี
ยศทั้ง ๓ นี้นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและเกียรติในสังคม รวมถึงความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย ในบรรดายศเหล่านี้จะเห็นว่า อิสริยยศ มีคนเข้าถึงน้อย เพราะเป็นยศที่เขาให้มา ถ้าไม่มีคนให้ก็เข้าถึงยศประเภทนี้ไม่ได้ เช่นยศทหารและยศตำรวจ สำหรับบริวารยศ แม้จะไม่ผูกติดอยู่กับระบบหรือบุคคลที่มีอำนาจแต่งตั้งซึ่งดูเหมือนเปิดกว้างกว่า แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับบุคคลภายนอกอีก คือแล้วแต่ว่าเขาพอใจเราแค่ไหน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลหรือเอื้อประโยชน์กันอย่างไร เป็นสิ่งที่แปรผันได้ตลอดเวลา เพราะมีส่วนที่ไปขึ้นอยู่กับความพอใจไม่พอใจของผู้อื่น ส่วนเกียรติยศคือชื่อเสียงจากการทำดีนั้น ไม่ติดด้วยเงื่อนไขใด ๆ ไม่ต้องมีคนตั้งให้เหมือนอิสริยยศ และไม่ต้องมีคน มาห้อมล้อมเหมือนบริวารยศ เกียรติยศจึงเป็นยศที่ทั่วไปแก่คนทั้งหลาย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างเสมอภาคด้วยการทำความดี และเมื่อยศชนิดนี้เกิดขึ้น ในบางโอกาสยังนำอิสริยยศและบริวารยศมาให้อีกด้วย
ดังนั้น การทำความดีจึงเป็นการสร้างยศอย่างหนึ่ง และยศที่เกิดจากการทำความดีนี้ เป็นยอดแห่งยศทั้งปวง เพราะตราบใดที่ยึดมั่นในการทำความดี เกียรติยศก็ยังอยู่ และอยู่แบบเกินอายุขัยด้วยซ้ำ เพราะแม้ผู้นั้นจะล้มหายตายจากไป เกียรติยศก็ไม่ตายตาม ดังคำกล่าวที่ว่า “อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง ชื่อก็ยังคงอยู่ไม่รู้หาย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น