นิทานธรรมะ เรื่อง บัวแล้งน้ำ
คำว่า "บัว" เป็นชื่อพรรณไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีเหง้ายาวทอดอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลม ก้านใบและก้านดอกแข็ง มีหนามสากคาย ชูใบและดอกขึ้นพ้นผิวน้ำ คนไทยเชื่อว่าดอกบัว เป็นดอกไม้ชั้นสูงใช้บูชาพระ สักการะสิ่งที่เคารพนับถือ แม้ยามไม่มีดอกบัวคนไทยก็ยังทำกระพุ่มมือประนมเป็นรูปดอกบัวแทน นอกจากนี้ดอกบัวยังสื่อความหมายแทนใจอีกด้วยธรรมชาติของบัวนั้น จะเจริญเติบโตแตกหน่อออกใบและมีดอกอยู่ได้ ก็เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยง ถ้าบัวกอใดไม่มีน้ำ หล่อเลี้ยงลำต้น บัวกอนั้นก็จะค่อยๆ เหี่ยวลงในระยะแรก ถ้าขาดน้ำเป็นเวลา หลายวันติดต่อกัน ก็จะกลายเป็น บัวแล้งน้ำ ซึ่งต้องแห้งตาย ในที่สุดอย่างแน่นอน
จิตใจของคนเรา ก็มีลักษณะคล้ายกับบัว คือจะอยู่ในสภาพตกต่ำ เศร้าหมอง โหดร้าย หรือเห็นแก่ตัว เมื่อยามมี เมตตา ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งกันและกัน อนึ่ง ถ้าขาดเมตตาธรรมดังกล่าว ก็จะทำให้ไม่มีใคร อยากคบค้าสมาคมด้วย และหากเป็นผู้ใหญ่ ก็คงไม่มีใครอยากพึ่งบารมี เพราะความเป็นคนแล้งน้ำใจนั้นเอง
ในอดีต มีอุปมาภาษิตบทหนึ่งว่า "นกไม่มีขน คนไม่มีความรู้ ย่อมขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้" แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความรู้เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ จำต้องให้ความสำคัญ กับพวกพ้องบริวาร เพิ่มเข้าไปอีก เป็น "นกไม่มีขน คนไม่มีความรู้และบริวาร ย่อมขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้" และบริวารดังกล่าว จะเกิดความนิยมชมชอบ เคารพนับถือ ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้น มีเมตตา แสดงน้ำใจไมตรีต่อผู้อื่นก่อน เขาจึงจะได้รับเมตตา และน้ำใจไมตรีตอบมา ดังคำพูดว่า "บริวารมาเพราะน้ำใจมี บริวารหนีเพราะน้ำใจลด บริวารหมดเพราะน้ำใจแห้ง"
ฉะนั้น ผู้หวังความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง จึงควรมีเมตตา แสดงน้ำใจไมตรีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ อย่ามองข้ามเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะเป็นเหมือนอาการของ บัวแล้งน้ำ ซึ่งรอวันเหี่ยวแห้งตายอย่างมิต้องสงสัย ... นิทานธรรมะบล็อก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น