นิทานธรรมะ ตอน ตัวอิจฉา
ในโลกบันเทิงเช่นละครหรือภาพยนตร์ เมื่อจะผูกเรื่องก็มักจะต้องมีตัวละครผู้รับบทที่เรียกกันว่า ตัวอิจฉา อยู่ด้วยเสมอ เรื่องจึงจะเข้มข้น ชวนติดตาม ยิ่งตัวอิจฉาแสดงสมบทบาทเข้ากับอารมณ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเร้าใจเท่านั้น จึงเป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้แต่ในโลกความเป็นจริง ความอิจฉาริษยาเป็นสภาพไม่พึงปรารถนา เพราะเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจเมื่อผู้อื่นได้ดีกว่า ถ้ามีโอกาสก็คอยตัดรอน เมื่อยังไม่มีโอกาสก็ร้อนรุ่มสุมทรวง บีบคั้นและเป็นทุกข์แก่ตัวเอง มองในแง่ไหน ๆ ก็มีแต่ผลเสีย ท่านจึงแนะวิธีแก้ไว้ดังนี้
๑. เพ่งดูความอิจฉา คือเข้าไปดูตรง ๆ ให้เห็นสภาพจิตใจของตนเองขณะเกิดความอิจฉา ว่าเป็นเพียงอารมณ์หรือสภาวะการรับรู้เหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ผ่านเข้ามา แต่พอมากระทบเข้ากับวิธีคิดที่ผิดซึ่งมีกิเลสหนุนหลังอยู่ ก็กลายเป็นความไม่พอใจแล้วขยายวงออกไปเรื่อย ๆ เมื่อทราบว่าเรื่องจริง ๆ มีแค่นี้ จะได้เกิดสติรู้ทัน แล้วหันมาต่อสู้กับความอิจฉาภายในตัวเอง ไม่ต้องไปสู้กับใคร
๒. พิจารณาโทษภัย คิดให้เห็นข้อเท็จจริงว่าเมื่อความอิจฉาริษยาเกิดขึ้น ตัวเองเย็นหรือร้อน อึดอัดหรือสบาย กระวนกระวายหรือสงบ ก็จะเห็นว่ามีแต่ทุกข์ทรมาน เป็นการทำร้ายตัวเองแบบสมัครใจ
๓. ฝึกใจมุทิตา คือฝึกใจให้รู้สึกเบิกบานยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี ความรู้สึกยินดีนั้นจะเป็นสภาวะแห่งสุขที่หล่อเลี้ยงใจของตัวเองก่อน เป็นความสุขที่ได้รับทันทีและนำไปสู่ความสุขร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมโลก
ความอิจฉาทำให้ตัวเองร้อนและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นอีกลักษณะหนึ่ง หากระงับดับได้มากและเร็วเพียงใดก็ยิ่งดีเพียงนั้น เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ละคร การที่ยิ่งอิจฉาก็ยิ่งสนุก ยิ่งโกรธก็ยิ่งเข้มข้นน่าติดตาม จะมีก็แต่ในโลกบันเทิงซึ่งเป็นเพียงโลกมายาเท่านั้น ถ้าเกิดกับชีวิตจริงก็จะมีแต่ความทุกข์ร้อนวุ่นวาย จริงมั้ยครับ??.... @นิทานธรรมะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น