เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสามัคคีเป็นคุณธรรม ที่หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความร่วมมือร่วมใจกัน กระทำกิจที่ชอบอย่างใดอย่างหนึ่งให้แล้วเสร็จ แต่ถ้าเป็นการร่วมมือกันกระทำกิจที่เป็นเรื่องความเสียหาย มักเรียกว่า การสุมหัว เช่น สุมหัวกันกินเหล้า สุมหัวกันปล้น เป็นต้น สังคมใดมีความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว สังคมนั้น ย่อมบังเกิดความเจริญรุ่งเรือง และความสงบสุขร่มเย็น ดังเช่น สังคมของเจ้าลิจฉวี เป็นต้น
หลักธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี ก็คือ หลักอปริหานิยธรรม ซึ่งแปลว่า หลักปฏิบัติที่ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อม ๗ ประการ ได้แก่
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เพื่อกระทำกิจการงานของส่วนรวมให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันกระทำกิจที่ควรทำ
๓. ไม่กระทำในสิ่งที่ผุ้นำไม่ได้สั่ง ไม่ละเลยในสิ่งที่ผู้นำให้กระทำ ตระหนักในคำสั่งอยู่เสมอ
๔. เคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
๕. ไม่ข่มเหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่า หรือไม่ทำอะไรตามใจอยากของตนเอง
๖. ยินดีและภูมิใจในสิทธิของตนด้วยความสันโดษ ไม่ละเมิดสิทธิความเชื่อของผู้อื่น
๗. ยกย่องและสนับสนุนให้คนดีมีความสามารถได้ปกครองบ้านเมือง
อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขของหมู่คณะโดยส่วนรวม และเป็นไปเพื่อความรุ่งโรจน์ของสังคมโดยแท้ เพราะเป็นธรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีแก่หมู่คณะ ตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "สุขา สังฆัสสะ สามัคคี แปลว่า ความพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะ นำสุขมาให้" นั่นเอง
...ติดตามอ่าน นิทานธรรมะ ในแบบนิทานสั้นๆ ให้แง่คิดในการดำเนินชีวิต อ่าน นิทาน ธรรมะ คติ สอน ใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น