แนะนำ! บทความธรรมะอ่านมากที่สุดตอนนี้

ธรรมะสอนใจ ตอน เพียงผู้โดยสาร

ธรรมะสอนใจ

ธรรมะสอนใจ ตอน เพียงผู้โดยสาร
      ผู้ที่เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง จำต้องจับจองตั๋วโดยสาร เมื่อได้รับแล้วมักเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของที่นั่งตามหมายเลขในตั๋ว หากมีใครมานั่งแทนที่ เราจะอ้างกรรมสิทธิ์ว่าที่นั่งตรงนั้นเป็นของเรา ขณะที่ใช้บริการอยู่ เมื่อยังไม่ถึงที่หมาย ก็เข้าใจว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอยู่ตราบนั้น แต่พอถึงที่หมายปลายทางก็จะลงจากพาหนะที่โดยสารนั้นไปโดยไม่มีความอาลัย ประหนึ่งรู้ว่ากรรมสิทธิ์ของเรามีเพียงเท่านี้เอง ปล่อยให้ที่นั่งเป็นของคนอื่นต่อไป
       หากจะเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดทั้งตำแหน่งหน้าที่ เป็นต้น ก็เปรียบเหมือนอุปกรณ์สำหรับโดยสาร ในฐานะที่เป็นเครื่องช่วยให้ดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเท็จจริงมักเกิดปัญหาขึ้น ๒ อย่าง คือ

       ๑. ละเลย คือ ไม่ใช้อุปกรณ์โดยสารนั้นให้เกิดประโยชน์ เช่นมีทรัพย์ก็ไม่ใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดสาระแก่ชีวิต มียศมีอำนาจก็ปล่อยให้โอกาสที่จะสร้างคุณประโยชน์หลุดลอยไป เป็นต้น

       ๒. ยึดติด ได้แก่ ลุ่มหลงหมกมุ่นจนเกินพอดี ครั้งเมื่อจะได้ บางครั้งก็ไม่คำนึงถึงถูกผิดและความเหมาะสม ส่วนครั้งเมื่อจะเสียก็กลัดกลุ้มฟูมฟายจนมีแต่ทุกข์ เต็มไปด้วยความหวงแหนยึดมั่นประหนึ่งว่า แม้ตายก็จะเอาติดตัวไปด้วยได้

       เมื่อจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม รถยนต์ที่โดยสารไป เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยในการไป ไม่ใช่เป้าหมายที่จะไป ในข้อเท็จจริง เมื่อต้องลงจากรถโดยสาร จึงไม่มีใครอาลัยอาวรณ์ หวงแหนยึดมั่นกับรถคันนั้นอีก ทรัพย์สมบัติและลาภยศก็เช่นกัน คือเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย จึงต้องวางท่าทีในลักษณะที่ว่า ใช้ให้เกิดประโยชน์เมื่อได้ และไม่ทุกข์ใจเมื่อเสีย

       ทำได้อย่างนี้ การเดินทางของเราจึงจะไม่เป็นทุกข์โดยที่ไม่ควรจะเป็น และจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความสะดวกปลอดโปร่งใจ .... ธรรมะสอนใจ ตอน เพียงผู้โดยสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ธรรมะเรื่องล่าสุด

Recent Posts Widget