นิทานธรรมะ ตอน ช้างกับมดแดง
มีนิทานเล่าว่า ช้างตัวหนึ่ง ทะนงตนว่าเป็นสัตว์ใหญ่และมีพละกำลังเหนือกว่าสัตว์ทุกประเภท จึงมักเที่ยวระรานสัตว์น้อยใหญ่ในป่าอยู่เสมอ วันหนึ่ง ขณะที่มันกำลังหากินอยู่นั้น ไปพบรังมดแดงรังหนึ่งเข้า จึงใช้งวงกระชากลงมา หมายขยี้ให้แหลกทั้งรัง ด้วยสัญชาตญาณการป้องกันตัว มดแดงทั้งรังจึงพากันกรูเข้ากัดงวงช้าง บางส่วนก็กรูเข้าไปกัดในรูจมูกและส่วนอื่น ๆ ทำให้ช้างเกเรได้รับความเจ็บปวดจนต้องหนีไปในที่สุดถึงเรื่องนี้จะเป็นแค่นิทาน แต่ก็เปี่ยมไปด้วยสาระสำคัญ เพราะชี้ไปที่ฐานของการอยู่รอด อันได้แก่ ความสามัคคี การรวมพลัง ที่ทำให้มดแดงตัวเล็ก ๆ ยังสามารถเอาชนะสัตว์ใหญ่อย่างช้างได้
ในหมู่มนุษย์ ความสามัคคีนั้น ย่อมเกิดได้เพราะการกระทำ ๓ ทาง คือ
๑. ทางกาย การใช้เรี่ยวแรงทางกาย ช่วยกันทำงานหรือภารกิจอื่นใดอย่างพร้อมเพรียง ไม่เกี่ยงงอนจนงานนั้น ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้
๒. ทางวาจา พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีสาระ ไม่ใช้ปากก่อความขัดแย้งทะเลาะวิวาท แต่พูดในทางให้เกิดไมตรีจิตมิตรภาพ
๓. ทางใจ มีเมตตารักใคร่ หวังดีต่อกันอย่างจริงใจ แม้จะทำให้มีความคิดเห็นแตกต่าง แต่ก็ไม่แตกแยก
ความสามัคคีเป็นพลังที่แข็งแกร่งก่อให้เกิดความสุข เป็นพื้นฐานแห่งความเจริญในทุกด้าน ดังนั้น จึงควรปลูกฝังความสามัคคีให้เกิดขึ้นโดยถือเอาปรัชญามดแดงเป็นตัวอย่างว่า
อันวิชาอาคมผสมเสน่ห์ สำแดงเล่ห์หลอกคนว่ามนต์ขลัง
เสียเวลาประวิงไม่จริงจัง เพราะมนต์ขลังมีอยู่ทั่วในตัวเรา
คือกิริยาวาจาอัชฌาสัย แม้ทำไว้ให้ดีไม่มีเฉา
ประชาชนยลพักตร์ย่อมรักเรา ไม่ต้องเป่าเสกสั่งก็ขลังเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น