ธรรมะสอนใจ ตอน เสาหลักของชีวิต
ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน จำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ ฉันใด ในการสร้างความดีทุกชนิด ก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาทเป็นแกนหลักรองรับ ฉันนั้น ความไม่ประมาทจึงนับว่าเป็นหลักธรรมะสำคัญอย่างยิ่งในการครองตน ครองคน และครองงาน ให้สำเร็จตามเป้าหมายในทุกด้าน ความไม่ประมาท คือ การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จำทำสิ่งใดๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสในการทำความดี ตระหนักดีถึงสิ่งที่ต้องทำ ถึงกรรมไม่ดีที่ต้องเว้น เอาใจใส่สำนึกอยู่ในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่เสมอ ว่า "ถ้าประมาทในทุกเรื่อง ความรุ่งเรืองก็มิอาจเกิดขึ้นได้" ในปทสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระพุทธองค์ตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนั้นย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยเท้าใหญ่ แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูลย่อมรวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น เหมือนกับผู้ประมาทเมามัวในชีวิตนั้น บัณฑิตท่านอุปมาไว้ว่า เสมือนผู้ที่ตายแล้วทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่"
ลักษณะของผู้ประมาท แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. กุสีตะ คือ ไม่ทำเหตุแต่จะเอาผล เช่น เวลาเรียนไม่ตั้งใจเรียน แต่อยากสอบได้ ไม่ตั้งใจทำงานแต่จะเอาความดีความชอบ ทาน ศีล ภาวนา ไม่ปฏิบัติ แต่อยากได้สวรรค์ นิพพาน เป็นต้น
๒. ทุจริตะ คือ ทำเหตุเสียแต่จะเอาผลดี เช่น ขี้เกียจทำงาน แต่อยากได้ผลของงาน พูดไม่ดีแต่อยากให้คนอื่นชื่นชอบ อยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่พยายาม เป็นต้น
๓. สิถิละ คือ ทำเหตุเล็กน้อย แต่จะเอาผลมาก เข้าลักษณะ ค้ากำไรเกินควร เช่น อ่านหนังสือนิดหน่อย แต่หวังสอบได้อันดับที่ ๑ ให้ทานนิดหน่อยแต่หวังบุญหล่นทับ หรือหวังจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ เป็นต้น
ผู้ประมาทในการทำเหตุ ๓ ประเภทดังกล่าว ย่อมพลาดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องที่คิด ในกิจที่ทำ และในคำที่พูดทั้งปวง ดังนั้น ผู้ฉลาดจึงควรระลึกอยู่เสมอว่า ผู้ทำเหตุดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำเหตุเสีย ย่อมได้รับผลเสีย ผู้ทำเหตุแห่งความสำเร็จไว้มาก ย่อมประสบผลสำเร็จมาก ทั้งดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท แล้วชีวิตก็จะมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่หวั่นไหวได้ง่าย เมื่อยามที่ถูกโลกธรรมฝ่ายต่ำเข้ามากระทบ เพราะมีความไม่ประมาทเป็นเสาหลักของชีวิตนั่นเอง .... โดย ธรรมะสอนใจ (ธรรมะกับชีวิต)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น