ธรรมะสอนใจ เรื่อง ภาษาสามัคคี
นายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงของไทยท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า การพูดจาทำความเข้าใจกันนั้น อย่าเพียงแต่พูดด้วยเหตุผล แต่ให้พูดด้วยความรักต่อกัน ประโยคสั้น ๆ นี้น่าคิดมาก หากจะจำกัดความการพูดด้วยความรัก ก็น่าจะหมายถึง วจีสุจริต คือไม่พูดเท็จ ไม่ส่อเสียดยุแยงตะแคงรั่ว ไม่หยาบคาย ไม่เพ้อเจ้อไร้สาระเลื่อนลอย และที่สำคัญก็คือ พูดออกจากดวงจิตที่มีเมตตาหวังดีต่อกัน ที่ว่าต้องพูดด้วยความรักต่อกันนั้น ก็เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจในคำพูดมากกว่าเหตุผล หากใครสามารถพูดให้พึงพอใจได้ ก็พร้อมที่จะสมัครสมานสามัคคีด้วย และถ้าพูดมีเหตุผลด้วย ก็นับว่าดีสมบูรณ์แบบ แต่การพูดที่เอาแต่เหตุผลอย่างเดียวโดยไม่มีความเมตตาหวังดีต่อกัน บางครั้งก็ยุติปัญหาไม่ได้การพูดด้วยความรักต่อกันนั้น หากดูตัวอย่างของหนุ่มสาวที่กำลังรักกัน ก็จะเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องไปค้นคว้าจากที่อื่น เพราะขณะที่ชอบพอกัน ไม่ว่าจะพูดอะไร ก็ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มที่ มีความสุภาพสูง ระมัดระวัง ขอโทษได้ง่าย และมากไปด้วยคำยกย่องชื่นชม จนบางครั้งเกินความเป็นจริงไปด้วยซ้ำ แต่ความพึงพอใจของผู้ฟังก็นำไปสู่การยอมรับเหตุผล ทำให้ความรักยั่งยืน เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีได้
ปัจจุบันมีการเรียกร้องความสามัคคีกันมาก การใช้ภาษาไม่ว่าจะพูดหรือเขียน ก็เป็นวิธีที่ไม่ควรมองข้าม เพราะชั่วดีผิดถูกเป็นเรื่องหลักการที่ต้องคงไว้ก็จริง แต่การที่จะให้เขาเข้าใจหรือยอมรับ บางทีก็ต้องดูที่ภาษาด้วยว่าเป็นไปเพื่อความสามัคคีหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ก็อาจทำให้เสียเรื่องได้ แม้หลักการและเจตนาจะดีทุกอย่าง ... ขอฝากไว้ด้วยนะครับ ธรรมะสอนใจ เรื่อง ภาษาสามัคคี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น